ค่าเงินบาททรงตัว ตลาดจับตาดูผลการประชุมเฟด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 25 กันยายน 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/9) ที่ระดับ 32.42/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (24/9) ที่ระดับ 32.40/42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและเงินปอนด์ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (24/9) หลังจากธนาคารกลางเฟด (เฟด) สาขาชิคาโก เปิดเผยว่าดัชนีกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรับ ทรงตัวในเดือนสิงหาคมที่ระดับ 0.18 ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ระดับ 0.2 ขณะเดียวกันดัชนีภาคอุตสาหกรรมของเฟด สาขาดัลลัส ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 28.1 ในเดือนสิงหาคม จากระดับ 30.9 ในเดือนก่อนหน้า โดยมีสาเหตุบางส่วนมาจากความกังวลด้านการกีดกันทางการค้า ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์นี้ (25-26/9) โดยตลาดการเงินคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% สู่ระดับ 2.00-2.25% ในการประชุมครั้งนี้ นอกจากนี้ตลาดยังคงรอดูความเห็นของคณะกรรมการเฟด เพื่อหาสัญญาณแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในครั้งต่อไป โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.43-32.47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.43/45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/9) ที่ระดับ 1.1752/56 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (24/9) ที่ระดับ 1.1764/66 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรและปอนด์แข็งค่าขึ้นในตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ หลังจากที่นายโดมินิก ราฟ รัฐมนตรีอังกฤษฝ่ายกิจการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ได้ออกมาแสดงความเชื่อมั่นเมื่อวานนี้ว่า สหราชอาณาจักรจะสามารถทำข้อตกลง Brexit กับสหภาพยุโรป (EU ได้ในที่สุด แม้ว่าก่อนหน้านี้ นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าวว่า EU และสหราชอาณาจักรกำลังประสบปัญหาการเจรจา Brexit นอกจากนี้นางเทเรซา เมย์ยังย้ำว่า สหราชอาณาจักรพร้อมที่จะถอนตัวจากการเจรจา Brexit กับ EU โดยไม่มีการทำข้อตกลง และสหราชอาณาจักรจะไม่มีการทำประชามติครั้งใหม่เกี่ยวกับ Brexit ขณะเดียวกัน นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้แถลงต่อรัฐสภายุโรปที่กรุงบรัสเซลส์เมื่อวานนี้ว่า (24/9) อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของยูโรโซนซึ่งไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารและพลังงานนั้น จะปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้านี้ เนื่องจากภาวะตึงตัวในตลาดแรงงานจะผลักดันค่าจ้างให้ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตามค่าเงินยูโรยังคงขาดแรงหนุนการซื้อจากนักลงทุน เนื่องจาก ECB ยังคงประมาณการอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำไปจนถึงปี 2020 สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจทางฝั่งยูโรโซน เมื่อวานนี้ (26/9) มีการเปิดเผยตัวเลขความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีเดือนกันยายน ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 103.7 จาก 103.9 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1747-1.1774 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1762/67 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/9) ที่ระดับ 112.86/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อจันทร์ (24/9) ที่ 112.64/66 เยน/ดอลลาร์ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ เนื่องจากไม่ได้มีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 112.76-112.96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 112.85/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐประจำเดือน ก.ย. (25/9), กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยยอดขายบ้านใหม่ประจำเดือน ส.ค. (26/9), คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศมติการประชุม (26/9), ตัวเลขประมาณการครั้งสุดท้ายของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 2/2518 (27/9), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (27/9), ข้อมูลรายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือน ส.ค. (28/9), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐในช่วงท้ายเดือน ก.ย. (28/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -3.15/-3.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.6/-3.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ