เศรษฐกิจดี ภูมิภาคแข็งแรง ผู้มีรายได้น้อยได้รับการดูแล

หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประกาศ GDP ในไตรมาส 2 ออกมาที่ขยายตัวร้อยละ 4.6 เมื่อรวมกับไตรมาส 1 แล้ว ปรากฏว่าครึ่งปีแรกขยายตัวร้อยละ 4.8 สูงสุดในรอบ 5 ปี หากมองย้อนไปปี 2557 ถึง 2560 จะเห็นว่า “เศรษฐกิจปรับตัวแข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี” จากร้อยละ 1.0 เป็น 3.0 แล้วขยับขึ้นมาที่ 3.3 และเป็นร้อยละ 3.9 ในปีล่าสุด

เบื้องหลังของการขยายตัวในช่วงครึ่งปีแรก คือ การส่งออก และการท่องเที่ยว 2 ตัวนี้เติบโตต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว แต่ตัวที่ทำให้เศรษฐกิจเราเติบโตจากภายในจริง ๆ คือ “การบริโภคภาคเอกชน” ซึ่งครึ่งปีแรกขยายตัวร้อยละ 4.1 สูงสุดในรอบ 5 ปีเช่นกัน ประเภทของการบริโภคที่ขยายตัวดี เช่น ซื้ออาหาร ซื้อเครื่องดื่ม ซื้อยานพาหนะ ไปเที่ยว สื่อสาร เป็นต้น

การเติบโตของการบริโภคภาคเอกชน เราดูจากเครื่องชี้อะไร หลัก ๆ คือ รายได้เกษตรกร ไตรมาส 1 ปีนี้ยังหดตัวที่ร้อยละ -2.8 พอมาไตรมาส 2 พลิกกลับมาขยายตัวร้อยละ 5.2 ซึ่งเกิดจากปริมาณพืชผลที่ขยายตัวได้ดี บวกกับราคาพืชผลใกล้กลับมาขยายตัวเป็นบวกแล้ว และถ้าปลายปี ราคาพืชผลกลับไปขยายตัวเป็นบวก และเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวพอดี น่าจะทำให้ “เศรษฐกิจปากท้องของเกษตรกรดีขึ้น” ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่ง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ทุกตัวปรับตัวดีขึ้นหมด และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องในทุกภูมิภาค นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ “เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งจากภายในแบบหน้ากระดานทุกภูมิภาค”

ส่วนตัวอื่น ๆ เช่น การส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุน ล้วนปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น สอดคล้องกับเศรษฐกิจในภาพรวม และเป็นการขยายตัวที่กระจายอย่างทั่วถึงในทุกภูมิภาค ตัว “ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภูมิภาค” ในระยะ 3 เดือนข้างหน้าก็บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสดใสทั่วไทยจริง ๆ

นอกจากการดูแลเศรษฐกิจมหภาคแล้ว การดูแลเศรษฐกิจฐานรากก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน โครงการทอล์ก-ออฟ-เดอะ-ทาวน์ ของกระทรวงการคลัง คือ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ซึ่งมีคนใช้อยู่ 11 ล้านคน วงเงินใช้ไปรวม ๆ ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท หลัก ๆ คือใช้ซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคที่จำเป็นในร้านธงฟ้าประชารัฐ

ตอนนี้มีร้านธงฟ้าของกองทุนหมู่บ้านมาร่วมด้วย ส่วนร้านค้าที่ไม่มีเครื่องรูดบัตรสวัสดิการก็สามารถใช้แอปพลิเคชั่น “ถุงเงินประชารัฐ” เพื่อรับบัตรสวัสดิการได้ ซึ่งจะเห็นว่าช่องทางในการซื้อของด้วยบัตรมีมากขึ้น ทั่วถึงมากขึ้น

ฉะนั้น เงินที่ใช้ในการรูดซื้อของเป็นเงินที่ได้จากรัฐบาล เงินที่ประหยัดไปก็สามารถนำไปจับจ่ายซื้อของได้ ทำให้เงินเกิดการหมุนเวียนในท้องถิ่น แถมผู้มีรายได้น้อยยังสามารถได้ “คืนภาษีมูลค่าเพิ่ม” กลับเข้ามาในบัตรได้ด้วย บางส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้คืน รัฐก็จะโอนเข้าบัญชีของผู้มีรายได้น้อยที่ได้สมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ

ส่วนอีกเรื่องที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ คือ “อินเทอร์เน็ตสำหรับผู้มีรายได้น้อย” เพื่อให้พี่น้องผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ ราคาสินค้าเกษตร เป็นต้น

แต่ที่พีกที่สุด คือ “การฝึกอบรมอาชีพ” ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณ 4 ล้านคน เพื่อให้มีทักษะและลู่ทางในการทำมาหากินมากขึ้น


หากจะกล่าวว่า ปี 2561 เป็นปีที่ผลของมาตรการต่าง ๆ เริ่มออกดอก ออกผล คงไม่ผิดนัก