ธนารักษ์เซ็ง “พ.ร.บ.ประเมิน” วืด ชงเข้าสภาไม่ทันเหตุกม.ภาษีที่ดินถ่วง

ธนารักษ์เซ็งร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอืดฉุดกฎหมายประเมินที่ดินใหม่แท้งตาม คาดไม่ทันชง สนช. ปิดรับกฎหมาย พ.ย. นี้ เผยรัฐบาลจัดลำดับความสำคัญให้ดันแก้กฎหมายที่ราชพัสดุก่อน เหตุล้อกับร่าง พ.ร.บ.PPP ที่มีผลต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ พร้อมเดินหน้าประเมินราคาที่ดินรอบใหม่ภายใต้กลไกเดิมก่อนประกาศราคา 1 ม.ค. 63

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ ที่ทางกรมธนารักษ์เสนอผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้วนั้น อาจจะไม่ทันพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่จะปิดรับร่างกฎหมายในเดือน พ.ย.นี้ และนั่นหมายความว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจะมีอันต้องตกไป และต้องรอให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามายืนยันว่าจะยังเสนออีกหรือไม่ต่อไป

ปรีชา มงคลหัตถี

“พอกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างล่าช้าไป ทำให้ร่าง พ.ร.บ.การประเมินมูลค่าทรัพย์สินฯถูกมองว่า ไม่ต้องรีบเร่งไปด้วย ซึ่งในส่วนกฎหมายของทางกรมธนารักษ์ได้จัดลำดับความสำคัญว่า จะผลักดันในส่วนร่าง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุก่อน เพราะเกี่ยวโยงกับร่าง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้ผ่าน เนื่องจากมีผลกระทบต่อโครงการลงทุน”

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.การประเมินมูลค่าทรัพย์สินฯ เป็นกฎหมายที่จะรองรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยมีเนื้อหาสาระที่สำคัญ อาทิ การปรับปรุงคณะกรรมการประเมินราคาใหม่ โดยปรับจากปัจจุบันที่คณะกรรมการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ จะมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน เป็นคณะกรรมการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน

รวมถึงกำหนดอำนาจหน้าที่คณะกรรมการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ในการกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ วีธีการ แนวทางในการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ต่างไปจากคณะกรรมการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มีอำนาจหน้าที่ในการเห็นชอบการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ ที่คณะกรรมการประจำจังหวัดเสนอ เพื่อใช้ในการเรียกเก็บภาษีค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.การประเมินมูลค่าทรัพย์สินฯ ยังให้อำนาจคณะกรรมการประเมินมูลค่าทรัพย์สินประจำจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน สามารถประกาศใช้ราคาประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในเขตจังหวัดตัวเองได้เลย จากเดิมแต่ละจังหวัดต้องเสนอให้คณะกรรมการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์เห็นชอบ จากนั้นจึงจะประกาศใช้บัญชีกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์

“ร่างกฎหมายที่เสนอนี้ถือเป็นการกระจายอำนาจการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน จากส่วนกลางไปสู่ระดับจังหวัดด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น อย่างเช่น ในกรณีที่ในบางจังหวัดมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ทำให้มูลค่าที่ดินเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นมาก ก็จะประกาศราคาประเมินใหม่ได้ทันที”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า หากกฎหมายฉบับนี้ผ่าน กรมธนารักษ์จะสามารถดำเนินการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ ตามที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ ร้องขอให้ดำเนินการได้ด้วย จากเดิมที่การประเมินตามประมวลกฎหมายที่ดินไม่ได้ครอบคลุมถึงหน้าที่นี้แต่อย่างใด เพราะเน้นไปที่การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นหลัก

นายปรีชา มงคลหัตถี ที่ปรึกษาด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กรมธนารักษ์ กล่าวว่า ยอมรับว่าร่าง พ.ร.บ.การประเมินมูลค่าทรัพย์สินฯ อาจจะเสนอ สนช.ไม่ทัน เนื่องจากปัจจุบันยังอยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่วนร่าง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ น่าจะเสนอ สนช.ทัน ไม่น่ามีปัญหา

นางสาววิลาวัลย์ วีระกุล ผู้อำนวยการสำนักประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ กล่าวว่า เนื่องจากกรมธนารักษ์จะประกาศราคาประเมินที่ดินทั่วประเทศรอบใหม่ ในวันที่ 1 ม.ค. 2563 เนื่องจากอธิบดีกรมธนารักษ์คนปัจจุบันมีนโยบายให้ประกาศราคาประเมินเป็นทุก ๆ 2 ปี จากเดิมที่ทุก ๆ 4 ปี เพื่อให้ราคาประเมินสะท้อนภาวะปัจจุบันมากขึ้น ดังนั้น ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2561 เป็นต้นไป กรมธนารักษ์จะให้เจ้าหน้าที่ทุกพื้นที่เริ่มเก็บข้อมูล

อย่างไรก็ดี สำหรับกรณีที่ร่าง พ.ร.บ.การประเมินมูลค่าทรัพย์สินฯไม่ผ่านนั้น ทางกรมธนารักษ์ก็คงต้องดำเนินการประเมินราคาที่ดินเหมือนเดิม ที่เป็นกระบวนการภายใต้กฎหมายที่ดิน

“การประเมินราคาที่ดินรอบใหม่ เราจะเอาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมาวาง แล้วดูว่าราคาเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน อย่างพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ถ้าเป็นตามแนวมอเตอร์เวย์ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ปิด ราคาก็จะเปลี่ยนแปลงเฉพาะตรงบริเวณจุดตัด หรือทางออก ก็จะดูตรงนั้น ส่วนจุดที่ผ่านที่นาประชาชน ไม่ได้มีทางออก ก็คงยืนราคาไว้เท่าเดิมก่อน” นางสาววิลาวัลย์กล่าว