ต้อนปล่อยกู้ระหว่างบุคคลเข้าระบบ 10บริษัทตีปีกรับจ่อคิวยื่นขอไลเซนส์

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง(แฟ้มภาพ)

คลังต้อนธุรกิจ “ตัวกลางให้กู้ระหว่างบุคคล” เข้าระบบ เปิดให้ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มกู้ P to P lending ยื่นขอไลเซนส์ ตีกรอบเข้มเป็นบริษัทไทย-ทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ห้ามโขกดอกเบี้ยเกิน 15% ปิดทางแบงก์-บริษัทจดทะเบียนในต่างประเทศแจม ธปท.จ่อออกเกณฑ์ เอกชน 10 บริษัทเตรียมขอใบอนุญาต

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่อง ธุรกิจระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 21 กันยายน 2561 เป็นการกำหนดให้ธุรกิจระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (peer to peer lending platform) เป็นกิจการที่ต้องได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ (ไลเซนส์) จาก รมว.คลัง และให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้กำกับดูแลและตรวจสอบ

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า ประกาศดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมกิจการที่ทำธุรกิจที่ดำเนินการในลักษณะเป็นระบบ หรือเครือข่าย จัดหาเงินทุนมาให้ผู้อื่นกู้เงิน หรือเอาเงินซื้อ หรือซื้อลดตั๋วเงิน (แพลตฟอร์ม) ทั้งนี้ แพลตฟอร์มอาจจะอยู่ในระบบเว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่น (P to P lending) ก็ได้ แต่ผู้ให้กู้จะต้องไม่รวมถึงผู้ให้บริการระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ ตามประกาศคณะกรรมการตลาดทุน

ห้าม “แบงก์-บ.ต่างชาติ”

การขอไลเซนส์ ผู้ที่จะประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มให้กู้ P to P lending ต้องขออนุญาตจาก รมว.คลัง โดยยื่นผ่านทาง ธปท. ต้องเป็นนิติบุคคล ประเภทบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่จดทะเบียนในประเทศไทย และไม่ใช่สถาบันการเงิน ทุนจดทะเบียนต้องไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ต้องมีจำนวนหุ้นที่บุคคลสัญชาติไทยถืออยู่ไม่ต่ำกว่า 75% ทั้งนี้ ธปท.จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ในการให้อนุญาต รวมถึงอาจให้ผู้ขออนุญาตประกอบธุรกิจนี้เข้าร่วมทดสอบและพัฒนานวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน (regulatory sandbox) กับ ธปท. สำหรับใบอนุญาตจะมีอายุไม่เกิน 5 ปี

ตีกรอบคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 15%

แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์ม P to P lending มีหน้าที่ต้องระบุรายละเอียดค่าบริการ ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เรียกเก็บจากผู้ใช้บริการ และต้องคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี และต้องเก็บรักษาข้อมูลของผู้ให้กู้และผู้กู้ไว้เป็นความลับ ส่วนข้อห้ามไม่ให้แพลตฟอร์มดำเนินการ คือ 1.กู้ยืม หรือรับฝากเงินจากประชาชน ยกเว้นการออกตั๋วเงินและเสนอขายต่อผู้ลงทุนในวงจำกัด และการออกหุ้นกู้ 2.เป็นผู้ให้กู้ หรือผู้กู้ ทั้งผ่านระบบของตัวเอง และระบบแพลตฟอร์มอื่น 3.ลดทุน (เว้นแต่ได้รับอนุญาตจาก รมว.คลัง) 4.เลิกกิจการ และ 5.ประกอบธุรกิจอื่น เว้นแต่ธุรกิจอื่นที่ ธปท.อนุญาต หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับแพลตฟอร์ม

มอบดาบ ธปท.คุมเบ็ดเสร็จ

ประกาศฉบับนี้กำหนดให้ ธปท.มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจแพลตฟอร์ม P to P lending ทั้งกำหนดคุณสมบัติผู้กู้และผู้ให้กู้, ค่าบริการ ค่าปรับ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ, การตรวจสอบและการรักษาความปลอดภัย, การปฏิบัติและจัดการเกี่ยวกับข้อมูลผู้ให้กู้และผู้กู้, การปฏิบัติและจัดการเกี่ยวกับข้อร้องเรียน, การจัดทำบัญชีและรายงาน, การกำหนดนโยบาย แผนงาน การประชาสัมพันธ์ และการโฆษณาส่งเสริมการขาย, การหยุด หรือระงับการประกอบธุรกิจเป็นการชั่วคราว, การยื่นขออนุญาตเลิกประกอบกิจการ และอื่น ๆ ที่จำเป็น

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท.จะออกประกาศเกี่ยวกับเรื่องนี้มารองรับ ซึ่งจะเป็นรายละเอียดของกรอบการดำเนินการ P to P

แบงก์พร้อมรับมือ

ขณะที่นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า ธนาคารไม่กลัวเรื่องการมีผู้แข่งขันในธุรกิจสินเชื่อเนื่องจากมีวิธีไปให้กู้ทางอื่น อย่างการปล่อยกู้ที่เรียกว่า information based lending ที่ธนาคารได้เข้าหารือกับ ธปท.แล้ว ขณะเดียวกัน แบงก์มีความชำนาญการวิเคราะห์สินเชื่อมากกว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในการแข่งขันปล่อยกู้แบบ P to P คือ “เกมด้านราคา”

แนะดึงแบงก์ร่วมจัดเรตติ้งผู้กู้

นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า P to P lending ในไทย ระยะเริ่มต้นควรมีสถาบันการเงินเข้าไปช่วยดูเรื่องเรตติ้ง จะทำให้ธุรกิจนี้เติบโตได้เร็วกว่าปล่อยไปตามธรรมชาติ เพราะสถาบันการเงินมีข้อมูลสำหรับปล่อยกู้มากที่สุดแล้ว รวมถึงมีระบบการยืนยันตัวตนที่ดีที่สุดอีกด้วย

กว่า 10 รายจ้องขอไลเซนส์

ด้านนายตฤบดี อรุณานนท์ชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท มันนี่เทเบิ้ล จำกัด เปิดเผยว่า มีผู้ประกอบการกว่า 10 บริษัท สนใจทำตลาดนี้ โดยมันนี่เทเบิ้ลพร้อมจะยื่นขอรับใบอนุญาตทันที มั่นใจว่ามีความพร้อมทั้งด้านโนว์ฮาว เทคโนโลยี ประสบการณ์ และกำลังทุน การทำธุรกิจไม่ได้เป็นปัญหาอุปสรรคใด ๆ แม้หลายฝ่ายมองว่ารัฐตั้งเกณฑ์ที่สูงเกินไปเรื่องสัดส่วนของหุ้นไทย และห้ามไม่ให้บริษัทต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจ

“การเข้มงวดเรื่องกฎเกณฑ์หุ้นไทยก็เพื่อปกป้องผู้ประกอบการไทยและผู้บริโภคไทย หากเป็นบริษัทต่างชาติอาจจะเกิดปัญหาเหมือนบริษัท Ensogo ที่เข้ามาระดมเงินแล้วปิดบริษัทหนีกลับ แต่ในส่วนของทุนจดทะเบียนบริษัทที่กำหนดไว้ 5 ล้านบาท น่าจะเพิ่มเป็น 10 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อเป็นหลักประกันมากขึ้นในการให้บริการ ขณะที่การกำกับของรัฐควรจะมีเพียงแค่ 1 หน่วยงาน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ” นายตฤบดีกล่าว