ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง สอดคล้องกับค่าเงินอื่นในภูมิภาค

ฝ่ายค่าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/10) ที่ 32.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (28/9) ที่ 32.33/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าระหวางสหรัฐกับจีนอีกครั้ง โดยกังวลว่าสงครามการค้าจะลุกลามบานปลาย หลังจากล่าสุดสหรัฐกล่าวหาว่าจีนพยายามแทรกแซงการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งจีนก็ได้ออกมาเรียกร้องให้สหรัฐยุติการใช้ถ้อยคำและการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งผลประโยชน์พื้นฐานของประชาชนทั้งสองประเทศ สำหรับประเด็นข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ระหว่างสหรัฐและแคนาดานั้น ล่าสุดนางคริสเตียน ฟรีแลนด์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของแคนาดา และนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ ออกแถลงการณ์ร่วมกันว่า “แคนาดาและสหรัฐ ได้บรรลุข้อตกลงการค้าร่วมกับเม็กซิโกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยข้อตกลงฉบับใหม่หรือข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกา-เม็กซิโก-แคนาดา (USMCA) ถือเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ได้รับการแก้ไขให้มีความเหมาะสมแล้ว โดยข้อตกลง USMCA จะเข้ามาแทนที่ข้อตกลงการค้าอเมริกาเหนือ (NAFTA) ซึ่งถูกใช้มานานกว่า 24 ปี

ในขณะที่สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในวันนี้ (1/10) ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกันยายน 2561 เทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2560 เพิ่มขึ้นในลักษณะชะลอตัว 1.33% โดยมีสาเหตุสำคัญจากราคาในหมวดพลังงานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ระดับ 8.10% แม้ว่าราคาในหมวดอาหารสดลดลง 1.16% ตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศและการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาได้รับอิทธิพลสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของทั้งความต้องการและราคาพลังงาน โดยราคาพลังงานมีแนวโน้มผันผวนและมีโอกาสเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ในขณะที่ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าตามแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของหลายประเทศ ซึ่งอาจส่งผลสุทธิต่อดุลการชำระเงิน  ในขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ทำให้คาดว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.8-1.6% และอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินระยะปานกลางที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 2.5% และ 1.5% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.21-32.31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.23/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (1/10 ) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1604/05 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (28/9) ที่ 1.1779/80 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร นักลงทุนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในอิตาลี หลังมีรายงานว่า รัฐบาลอิตาลีภายใต้การนำของพรรคไฟว์ สตาร์ และพรรคเดอะ ลีก มีความเห็นตรงกันว่าให้มีการกำหนดเป้าหมายการขาดดุลงบประมารในปีหน้าไว้ที่ 2.4% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของรัฐบาลชุดก่อนถึง 3 เท่า และคาดว่าจะทำให้สหภาพยุโรป (อียู) ไม่เห็นด้วย ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากปัญหาการเมืองในประเทศ หลังรัฐบาลผสมชุดใหม่ได้กำหนดเป้าหมายขาดดุลงบประาณปีหน้าสูงขึ้นมาก ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในอิตาลีได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วทั้งภูมิภาคระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1574-1.1628 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1612/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้ (1/10) เปิดตลาดที่ระดับ 113.85/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (28/9) ที่ 113.40/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยในวันนี้ (1/10) ว่าความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่นซึ่งรวมถึงผู้ผลิตรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (ปรับตัวลงติดต่อกัน 3 ไตรมาส เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาทด้านการค้าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น (ทังกัน) ประจำไตรมาส 3 อยู่ที่ระดับ -19 ต่ำกว่าตัวเลขที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ +22 และลดลงจากระดับ +21 ในไตรมาส 2 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.59-114.05 เยน/
ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 114.01/03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ แถลงการณ์ประธานเฟด สาขาแอตแลนตา (1/10) ดัชนีการสำรวจผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมโดย ISM (1/10) แถลงการณ์ของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (4/10) การจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐ โดยภาคเอกชน (3/10) ดัชนีการสำรวจผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อนอกภาคอุตสาหกรรมโดย ISM (3/10 การจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐ (5/10) อัตราการว่างงานของสหรัฐ (5/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -3.3/-3.10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.6/-3.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ