“สรรพากร”แจงโปร่งใสเลือก”เคาน์เตอร์เซอร์วิส”เป็นตัวแทนคืนแวตนักท่องเที่ยว-ผู้สมัคร2รายไม่ผ่านคุณสมบัติ ยืนยันไม่เปิดยื่นรอบสอง

สรรพากร ยืนยัน คัดเลือก “เคาน์เตอร์เซอร์วิส” เป็นตัวแทนคืนแวตนักท่องเที่ยว มีความโปร่งใส แจงผู้สมัคร 2 รายไม่ผ่านการพิจารณาทั้งด้านคุณสมบัติและความเหมาะสมให้บริการ พร้อมระบุไม่เปิดรับรอบใหม่แน่นอน อ้างเป็นโครงการทดลอง 6 เดือน

นายปิ่นสาย สุรัสวดี ผู้อำนวยการกองวิชาการแผนภาษี ในฐานะรองโฆษกกรมสรรพากร กล่าวยืนยันว่า การพิจารณาคัดเลือกตัวแทนเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้แก่นักท่องเที่ยวในเมือง ที่ยื่น 3 รายนั้น ได้มีการพิจารณาเป็นไปตามขั้นตอนในประกาศอธิบดีฯ (ฉบับที่ 224) และแนวปฏิบัติทุกประการ ซึ่งกรมสรรพากรได้ตรวจสอบคุณสมบัติ พบว่าผู้ยื่นสมัคร 2 ราย ไม่ผ่านการคัดเลือก โดยผู้ยื่นรายแรกไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการเป็นตัวแทนของผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรในการขอคืนแวตจากกรมสรรพากร ตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองนิติบุคคล และอีก 1 รายไม่ได้ยื่นคำขออนุมัติตามแบบที่แนบท้ายประกาศอธิบดีฯ รวมถึงมีการกำหนดจุดบริการจำนวน 5 แห่ง ซึ่งจำนวนเกินกว่าที่กำหนดให้มีเพียง 3 แห่ง

ส่วนผู้ยื่นสมัคร บริษัทเคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือเซเว่น อีเลฟเว่น เป็นไปตามขั้นตอนตามประกาศอธิบดีฯ (ฉบับที่ 224) และแนวปฏิบัติทุกประการ ถือว่ามีความโปร่งใส และไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลหรือกลุ่มธุรกิจใด

นายปิ่นสายกล่าวด้วยว่า จะไม่มีการเปิดรับสมัครบริษัทตัวแทนที่เป็นตัวแทนคืนแวตรอบใหม่แล้ว เนื่องจากเป็นโครงการที่อยู่ทดลองในช่วง 6 เดือน (1 ตุลาคม 2561 – 31 มีนาคม 2562) หลังจากนั้นทางกรมสรรพากรจะมีการประเมินโครงการดังกล่าวทั้งด้านคุณภาพและปริมาณเพื่อทำเรื่องเสนอขอนโยบายดังกล่าวกับกระทรวงการคลังต่อไป

“บริษัทเคาน์เตอร์เซอร์วิส ผ่านเกณฑ์คัดเลือก เนื่องจากมีคุณสมบัติครบถ้วน ถูกต้อง ตามประกาศอธิบดีฯ และมีความพร้อมด้านระบบเทคโนโลยีสูง รวมถึงมีพื้นที่จุดบริการคืนภาษีแวตให้นักท่องเที่ยวได้อย่างเหมาะสม โดยกรมสรรพากรได้กำหนดให้บริษัทเคาน์เตอร์เซอร์วิส เป็นตัวแทนเพื่อขอคืนแวตให้แก่นักท่องเที่ยว ทั้ง 3 แห่ง ประกอบด้วย เซเว่นฯ-สยามเซ็นเตอร์ เซเว่นฯ-แบงก์ค็อกไนซ์บาร์ซาร์ พระราม 9 และเซเว่นฯ-ผดุงด้าว เยาวราช” นายปิ่นสายกล่าว

ทั้งนี้ การพิจารณาคัดเลือกดังกล่าว กรมสรรพากรพิจารณาจาก 2 ส่วนคือ (1) คุณสมบัติของผู้สมัคร และ (2) ความเหมาะสมในการเป็นผู้ให้บริการเป็นตัวแทนฯ ได้แก่ การพิจารณาความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวในบริเวณที่ตั้งของสถานที่ให้บริการ การคมนาคมสะดวก ความปลอดภัย อัตราค่าบริการที่เรียกเก็บจากนักท่องเที่ยว ความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ฯลฯ โดยผู้สมัครต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 60% จึงจะถือว่าผ่าน

สำหรับการคืน VAT ให้แก่นักท่องเที่ยว ปี 2561 นายปิ่นสายกล่าวว่า มีจำนวนนักท่องเที่ยวขอคืนภาษีจำนวน 2.5 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 54% คิดเป็นมูลค่าซื้อสินค้าจำนวน 48,000 ล้านบาท โดยมูลค่าภาษีแวตที่นักท่องเที่ยวขอคืนภาษีจำนวน 2,500 ล้านบาท นอกจากนี้กรมสรรพากรได้กำหนดมูลค่าของสินค้าสำหรับการขอคืนภาษีดังกล่าวเฉพาะในกรุงเทพตั้งแต่ 2,000 บาทขึ้นไป สูงสุดไม่เกิน 12,000 บาทต่อรายต่อเที่ยว

“ในช่วงระยะเวลา 6 เดือน ทางกรมสรรพากรจะมีการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกอยู่แล้วว่ามีการคืนภาษีแวตให้นักท่องเที่ยวอย่างไรบ้าง สำหรับสินค้าบางรายการที่กรมสรรพากรจำเป็นต้องตรวจดูสินค้าและตรวจสอบ เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่มีวงเงินเกินตามที่กำหนดในการขอยื่นคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น อัญมณี โทรศัพท์ ทองรูปพรรณ นาฬิกา แว่นตา ปากกา ที่ชาร์จแบตเตอรี่สำรอง คอมพิวเตอร์พกพา กระเป๋า เข็มขัด ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่า ตั้งแต่ราคา 10,000 บาทต่อชิ้นขึ้นไป โดยไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)” นายปิ่นสายกล่าว

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ กรมสรรพากรประกาศรับสมัครผู้ที่ประสงค์ให้บริการเป็นตัวแทนเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรในเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและเป็นการจูงใจให้นักท่องเที่ยวซื้อสินค้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ตามโครงการทดลองในระยะ 6 เดือน กรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 224) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรที่ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียนเพื่อนำออกไปนอกราชอาณาจักร มีสิทธิตั้งตัวแทนเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วได้ตามมาตรา 84/4 แห่งประมวลรัษฎากร และแนวปฏิบัติสำหรับผู้ให้บริการเป็นตัวแทนเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรในเมือง ซึ่งได้มีการประกาศเปิดรับสมัครตัวแทนเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยวในเมือง ตั้งแต่วันที่ 7 – 17 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา