ESG กลายเป็น เรื่องสำคัญเร่งด่วน

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก

โดย ธนาคารเอชเอสบีซี

บริษัทหลาย ๆ แห่งจำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสังคมในวงกว้าง หากต้องการจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน

ผลการวิจัยใหม่ล่าสุดที่ธนาคารเอชเอสบีซีมอบหมายให้จัดทำขึ้น ชี้ให้เห็นว่าขณะนี้นักลงทุนรายใหญ่ ส่วนใหญ่ได้หยิบยกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (environmental, social and governance : ESG) มาพิจารณาในการตัดสินใจลงทุน โดยการให้ความสำคัญต่อประเด็น ESG มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของหน่วยงานที่จัดอันดับ ESG

จากผลการสำรวจนักลงทุนและองค์กรธุรกิจรายใหญ่ทั่วโลกกว่า 1,700 ราย ที่เสนอขายตราสารหนี้เอกชน พบว่านักลงทุนสถาบันร้อยละ 61 มีกลยุทธ์บริหารจัดการด้าน ESG เพื่อใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจลงทุน

ส่วนองค์กรธุรกิจก็กำลังตระหนักว่า จำเป็นจะต้องดำเนินมาตรการด้าน ESG ต่อไปเช่นกัน โดยพบว่าเกือบร้อยละ 50 ขององค์กรธุรกิจที่ทำการสำรวจมีกลยุทธ์ด้าน ESG ของตนเอง และองค์กรธุรกิจหลายแห่งก็ได้ให้คำมั่นว่าจะประเมินและจัดการผลกระทบที่มีต่อผู้คนในสังคมและโลก และเปิดเผยข้อมูลในด้านต่าง ๆ เช่น การปล่อยคาร์บอน เงื่อนไขการจ้างแรงงาน และความสัมพันธ์กับชุมชน

บรรดานักลงทุนและบริษัทต่าง ๆ กำลังตระหนักว่า การสอดแทรกแนวปฏิบัติด้าน ESG ที่ดีเข้าไปในกิจกรรมขององค์กรไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่ถูกต้อง แต่ยังเป็นความสมเหตุสมผลที่ดีในเชิงธุรกิจอีกด้วย ทั้งนักลงทุนสถาบันและองค์กรธุรกิจระบุว่า เหตุผลสำคัญที่ต้องให้ความสนใจด้าน ESG นั่นคือ ความเชื่อว่าการบริหารจัดการเรื่องดังกล่าวจะช่วยปรับปรุงผลประกอบการทางการเงินให้ดีขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงแรงจูงใจขององค์กรธุรกิจที่เปลี่ยนไปเทียบกับผลสำรวจครั้งก่อนของธนาคารเอชเอสบีซีที่ระบุว่า แรงกดดันจากหน่วยงานกำกับดูแลเป็นปัจจัยขับที่ใหญ่ที่สุด

นายแดเนียล คลิแอร์ ผู้อำนวยการบริหาร สายงานกลยุทธ์ธุรกิจ และผู้อำนวยการบริหาร สายงาน sustainable finance ในระดับเครือข่ายสาขาทั่วโลก ธนาคารเอชเอสบีซี กล่าวว่า “ขณะนี้นักลงทุนมีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าการให้ความใส่ใจในประเด็น ESG สามารถส่งเสริมและสนับสนุนผลประกอบการทางการเงินได้ ซึ่งความเชื่อที่ว่านี้กำลังกระตุ้นให้นักลงทุนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยกล่าวง่าย ๆ ก็คือ ESG และการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ (climate finance) และการจัดการความเสี่ยง กำลังเป็นแนวคิดกระแสหลักในสังคม”

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำเนื่องจากผลการวิจัยระบุว่า เกินครึ่งของบริษัทที่ทำการสำรวจยังไม่มีกลยุทธ์ด้าน ESG เลย

องค์กรบางแห่งกล่าวว่า องค์กรยังลังเลที่จะออกมาตรการดำเนินงานด้าน ESG เพิ่มขึ้น เพราะขาดคำนิยามที่ชัดเจนเกี่ยวกับข้อมูลที่องค์กรควรจะวัดผลและเปิดเผย ทั้งนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนที่คำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แต่มาตรฐานการดำเนินงานด้าน ESG ซึ่งเป็นที่ยอมรับในตลาดกลับยังมีค่อนข้างน้อย ซึ่งหมายความว่าขณะที่บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งตระหนักว่านักลงทุนต้องการรับรู้ข้อมูลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการดำเนินงานด้าน ESG แต่บริษัทเหล่านั้นกลับไม่แน่ใจว่าควรจะเปิดเผยข้อมูลเรื่องใดบ้าง

การริเริ่มดำเนินการใหม่ ๆ อย่างเช่น คณะทำงานขับเคลื่อนการเปิดเผยข้อมูลผลประกอบการทางการเงิน และผลการดำเนินงานของธุรกิจที่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (The Task Force on Climate-related Financial Disclosures : TCFD) ที่สนับสนุนโดยธนาคารเอชเอสบีซี อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการแก้ปัญหา โดยในปี 2560 TCFD ได้เผยแพร่คำแนะนำ (recommendations) สำหรับการใช้อ้างอิงที่สอดคล้องกันทั่วโลก ถึงวิธีการที่บริษัทควรจะประเมินและรายงานผลกระทบด้านความเสี่ยงที่เผชิญจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลจากการสำรวจพบว่ามีบริษัทขนาดใหญ่เพียงร้อยละ 8 และนักลงทุนร้อยละ 10 ที่ทราบถึงคำแนะนำดังกล่าว


ทั้งนี้ นายคลิแอร์เน้นว่าความไม่สอดคล้องกันของคำนิยามเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ และกล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารเอชเอสบีซียังคงให้การสนับสนุนคำแนะนำของ TCFD อย่างเต็มที่หุ