เร่ง “อีเพย์เมนต์-บิ๊กโปรเจ็กต์” ภารกิจ “คลัง” โค้งสุดท้ายปี’61

การประชุมคณะกรรมการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านตลาดทุนของไทยกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 นอกจากจะมอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาเรื่องการเชื่อมโยงตลาดเงินตลาดทุนกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคแล้ว ได้ถือโอกาสนี้ประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง ครั้งที่ 9/2561 ในวันดังกล่าวด้วย

ในการนี้รองนายกฯสมคิดกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายภารกิจหลักให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังเร่งรัดโครงการสำคัญ ๆ ของรัฐบาลในช่วงเวลา 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ เพื่อสร้างผลงานให้ปรากฏแก่สายตาประชาชน ก่อนการเมืองปรับโหมดใหม่เริ่มนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง ตามเงื่อนเวลาที่รัฐบาลกำหนดไว้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

ทั้งนี้ รองนายกฯสมคิดได้เน้นย้ำให้ส่วนราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเร่งเดินหน้าโครงการของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งที่อยู่ระหว่างดำเนินการและกำลังจะเดินหน้าประมูล เป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

“ขณะนี้โครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ เราไม่สามารถหยุดได้ เพราะแต่ละโครงการที่เราผลักดันถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในอนาคตข้างหน้า” นายสมคิดกล่าว

ขณะที่ รมว.คลัง สั่งกำชับให้ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังเร่งผลักดันโครงการ แผนงานต่าง ๆ ในปีงบประมาณ 2562 โดยเฉพาะการเร่งรัดการเบิกจ่าย โดยนำระบบการรับชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) มาใช้ทั้งหมด โดยให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานนำร่อง ตั้งเป้าภายในปี 2562 จะสามารถใช้ระบบนี้ได้เต็ม 100%

ในส่วนของการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านตลาดทุนของไทยกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคซึ่งเป็นไฮไลต์ของงาน นายอภิศักดิ์ระบุว่า ได้ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปศึกษาเกี่ยวกับระบบการชำระเงิน ข้ามประเทศในกลุ่มประเทศภูมิภาค หลังผลตอบรับบริการโอนเงินอย่างพร้อมเพย์ในไทยไปได้ค่อนข้างดี ครั้งนี้จะใช้คิวอาร์โค้ดเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อเป็นตัวกลางในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศให้สะดวกมากขึ้น

“โดยเฉพาะการโอนเงินของชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทย เมื่อต้องการโอนเงินกลับไปประเทศจะเสียค่าธรรมเนียมเยอะมาก บางรายสูงถึง 10% ถ้าใช้ระบบนี้เชื่อมโยงกันจะโอนเงินกลับประเทศได้สะดวกและลดค่าใช้จ่าย”

ในส่วนของการใช้เงินสกุลท้องถิ่น (local currency) จะพยายามใช้เงินสกุลท้องถิ่น ให้สามารถซื้อขายสินค้าและบริการในกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN) หรือกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับภาคธุรกิจและช่วยลดต้นทุนในการแลกสกุลเงิน

“ปัจจุบันเราใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสื่อกลางซื้อขายแลกเปลี่ยน เมื่อเราซื้อเป็นเงินดอลลาร์ต้องเอากลับไป clearance ที่นิวยอร์ก จากนั้นจึงนำมาแลกกลับเป็นอีกสกุลเงินหนึ่ง จึงสามารถนำไปใช้จ่ายได้ มีต้นทุนสูงขึ้น แต่ถ้าเราใช้เงินสกุลท้องถิ่น (local currency) ได้จะทำให้ต้นทุนต่ำ” นายอภิศักดิ์กล่าว

ขณะเดียวกัน การจะใช้เงินสกุลท้องถิ่นให้สำเร็จได้ต้องมีวิธีการหรือมาตรการที่จะทำให้อัตราการซื้อขายแคบลงและอยู่ในระดับที่สามารถซื้อขายได้ ที่น่าสนใจคือ การแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทไทยและเงินหยวนของจีน เนื่องจากเงินหยวนถือเป็นเงินสกุลสำคัญในอนาคต ถ้าไทยมีระบบที่สามารถแลกเปลี่ยนเงินไทยกับเงินหยวนได้ โดยใช้อัตราการซื้อขายให้แคบลง เชื่อว่าในอนาคตการใช้เงินบาทกับเงินหยวนก็สามารถแลกเปลี่ยนกันเองได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ ธปท.ต้องไปศึกษาว่าจะมีมาตรการอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 จะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ที่ไทยถือเป็นเจ้าภาพ หน่วยงานรัฐต้องเตรียมแนวคิดเหล่านี้ไปนำเสนอให้ไทยสามารถเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศในภูมิภาค โดยนำความรู้ด้านการพัฒนาตลาดเงินตลาดทุนไปช่วยเหลือสนับสนุน ทำให้ทุกประเทศในภูมิภาคสามารถเดินไปด้วยกันได้