ธปท.อัดยาแรงคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยหลังที่2เพิ่มดาวน์20% เตรียมบังคับใช้ 1 ม.ค.62 เปิดรับฟังความเห็นถึง 22 ต.ค.นี้

ธปท. คุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สกัดเก็งกำไร ปรับเกณฑ์สัญญาเงินกู้บ้านหลังที่สองเพิ่มเงินดาวน์ เป็น 20% เตรียมบังคับใช้ 1 ม.ค.62  ชี้อยู่ในระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นถึง 22 ต.ค.นี้ 

 นางวจีทิพย์ พงษ์เพ็ชร ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน และนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการ กลุ่มงานด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ทาง ธปท. เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่องแนวนโยบาย Macroprudential สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ภายใน 22 ต.ค.นี้ โดยสาเหตุของการออกมาตรการการกำกับดังกล่าว เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในช่วงที่ผ่านมามีการแข่งขันรุนแรงขึ้น ขณะที่มาตรฐานการให้สินเชื่อ (Credit underwriting standards) หย่อนลง หรือคุณภาพสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมีทิศทางที่ด้อยลงสวนทางกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังพบสัญญาณการกู้ซื้อเพื่อลงทุนไม่ใช่กู้ซื้อเพื่ออยู่จริงที่สูงขึ้น โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยที่มีมูลค่า 10 ล้านบาทขึ้นไป และมีการกู้ซื้อมากกว่า 1 หลัง (ผ่อนหลายสัญญากู้พร้อมกัน) โดยหวังผลตอบแทนที่สูง (Search for yield) ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยังคงระดมทุนขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม หากพฤติกรรมดังกล่าวไม่มีการกำกับดูแลอย่างเหมาะสมอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงและความ เปราะบางในระบบเศรษฐกิจการเงิน และบทเรียนที่ผ่านมาของประเทศทั่วโลกชี้ว่าปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์มักเป็นหนึ่งในต้นตอสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก

โดยการปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในครั้งนี้ เป็นมาตรการเชิงป้องกัน (Preventive measure) ที่จะช่วยลดความเสี่ยงเชิงระบบ และมุ่งสร้าง credit culture ที่ดี คือให้สถาบันการเงินมีมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม ไม่กระตุ้นการก่อหนี้เกินตัวของครัวเรือน ไม่เอื้อการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเพื่ออยู่จริงสามารถซื้อได้ในราคาที่เหมาะสม

โดยตามหลักการคือจะกำหนดให้มีเงินดาวน์ขั้นต่ำสำหรับการกู้หลังที่ 2 ขึ้นไปและที่อยู่อาศัยที่มีมูลค่า 10 ล้านบาทขึ้นไป โดยต้องวางดาวน์อย่างน้อย 20% ของมูลค่าหลักประกัน และอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ (LTV) ไม่เกิน 80% ทั้งยังปรับเกณฑ์การนับสินเชื่อ top-up ที่ใช้หลักประกันเดียวกันให้สะท้อนความเสี่ยง

ทั้งนี้ มาตรการที่เสนอจะช่วยลดดีมานด์เทียม และลดโอกาสการเก็งกำไรที่จะทำให้ราคาเร่งขึ้นมากเกินปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนที่ซื้อเพื่ออยู่จริง (real demand) สามารถซื้อบ้านได้ในราคาที่เหมาะสมมากขึ้น เพราะอุปสงค์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนและเก็งกำไรจะลดลง ขณะที่ประชาชนที่ซื้อเพื่อลงทุน จะรับความเสี่ยงได้ดีขึ้น ไม่ประเมินความเสี่ยงต่ำเกินควร และลดโอกาสที่จะถูกผลกระทบจากการปรับลดลงของราคาอสังหาริมทรัพย์ได้

ในส่วนของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์สามารถวางแผนลงทุนได้อย่างเหมาะสม และลดความเสี่ยงจาก โอกาสเกิดฟองสบู่ และสถาบันการเงิน คุณภาพสินเชื่อจะดีขึ้น ซึ่งจะช่วยลดภาระกันสำรองในอนาคต และ มีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของมูลค่าหลักประกัน ทั้งนี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทย จะมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งจะเอื้อต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน


อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 เป็นต้นไป เฉพาะกับการขอกู้ครั้งใหม่ (ไม่มีผลสำหรับการกู้ก่อนหน้านั้น) และไม่มีผลกระทบสำหรับการซื้อบ้านหลังแรก (ไม่กระทบประชาชนที่ซื้อที่ อยู่อาศัยเพื่ออยู่จริง)