ปมร้อนตัวแทนคืน VAT ในเมือง รัฐกลัวรั่วไหล-ห้างฯ ใหญ่ “ตกม้าตาย”

แฟ้มภาพมติชน

การเปิดให้เอกชนสมัครเป็นตัวแทนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรในเมือง (Downtown VAT Refund for Tourists) ที่กรมสรรพากรมีการเปิดให้ยื่นใบสมัคร ในช่วงวันที่ 10-17 ก.ย.ที่ผ่านมา กลายเป็นเรื่องวุ่นขึ้นมา หลังกรมสรรพากรประกาศผล ว่าจากที่มีผู้ยื่นสมัคร 3 ราย มีผู้ได้รับอนุมัติเพียง 1 ราย คือ บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด

ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทำให้กรมสรรพากรต้องตั้งโต๊ะชี้แจง ทั้งเมื่อวันที่ 2 ต.ค. และ ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ซึ่งรอบนี้นอกจาก “ปิ่นสาย สุรัสวดี” ผู้อำนวยการกองวิชาการแผนภาษี ในฐานะรองโฆษกกรมสรรพากรที่เคยชี้แจงในรอบแรกไปแล้ว ยังส่ง “พัดชา พงษ์กีรติยุต” ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ และ “สาโรช ทองประคำ” ผู้อำนวยการกองกฎหมาย มาร่วมชี้แจงด้วย

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ “ปิ่นสาย” ย้ำอีกครั้ง ก็คือ กระบวนการอนุมัติเป็นไปอย่าง “โปร่งใส” แน่นอน โดยสาเหตุที่ผู้สมัคร 2 รายไม่ผ่านคุณสมบัติ เนื่องจาก 1 ราย ไม่ได้จัดตั้งบริษัทโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นตัวแทนคืน VAT ให้แก่ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร และอีก 1 ราย ยื่นเสนอจุดบริการคืน VAT จำนวน 5 แห่ง เกินกว่าที่กรมสรรพากรกำหนดไว้ในทีโออาร์ ว่าต้องไม่เกิน 3 จุด

ขณะที่รายของ “เคาน์เตอร์เซอร์วิส” นั้น ยื่นเอกสารอย่างถูกต้องครบถ้วน

“ปิ่นสาย” ยังเท้าความถึงอดีตว่า กรมสรรพากรมีการคืน VAT นักท่องเที่ยวมากว่า 10 ปีแล้ว โดยปัจจุบันช่วงที่นักท่องเที่ยวมาก การคืน VAT ที่สนามบินก็จะมีนักท่องเที่ยวต่อแถวกันยาว ดังนั้นทางกรมจึงหาวิธีการปรับปรุงมาตลอด และบังเอิญช่วงที่ผ่านมา มีนโยบายประชารัฐเกิดขึ้น โดยกลุ่ม “ประชารัฐ D3” ที่รับผิดชอบด้านการท่องเที่ยว มีการหยิบยกเรื่องเหล่านี้ขึ้นมา

“การหารือที่ผ่านมา เป็นในเชิงวิชาการ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่า ในเมืองนอกทำอย่างนั้นอย่างนี้ เมืองไทยควรปรับอย่างไร จนในที่สุดก็ได้ข้อยุติเมื่อประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา ว่าจะเปิดรับสมัครเป็นการทั่วไปให้ผู้มีคุณสมบัติที่เรากำหนด ใครก็ได้มาสมัคร แล้วก็อย่างที่ทราบกันคือ สมัคร 3 ราย แต่มีคุณสมบัติครบถ้วนเพียง 1 ราย” นายปิ่นสายกล่าว พร้อมระบุด้วยว่า “กลุ่มประชารัฐ D3 มีการคุยกันตลอด แต่สมาคมที่เป็นข่าว ไม่เคยคุยกับกรมสรรพากรเลย ส่วนอยู่ใน D3 หรือเปล่าไม่ทราบ เพราะทุกครั้งที่เราคุย คุยกับ D3”

ขณะที่ “พัดชา” ย้ำว่า โครงการนี้กรมสรรพากรต้องการ “ทดลอง” เพื่อดูผลได้ผลเสีย ทั้งประโยชน์กับนักท่องเที่ยว รวมถึงประเทศชาติ จึงยังไม่อยากเปิดกว้างมาก เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุม ซึ่งตอนออกประกาศ ก็ยังไม่ทราบว่าจะมีผู้สมัครกี่ราย จึงกำหนดให้เปิดจุดบริการได้รายละไม่เกิน 3 จุด เพราะเกรงว่า หากกำหนดจุดมากกว่านี้ แล้วมีผู้ยื่นเข้ามามากราย ก็อาจจะมีจุดมากเกินไปจนควบคุมยาก นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้ย้ำกับรายที่ยื่น 5 จุด ในวันที่มาสมัครด้วยว่า ควรแก้ไขให้เป็น 3 จุด แต่บริษัทดังกล่าวก็ยืนยันเช่นเดิม

“เราไม่ได้อยากให้มีแค่รายเดียว โดยที่สมัครกันมา 3 ราย เราก็อยากให้ผ่านทั้ง 3 ราย แต่ด้วยความผิดพลาดทางเทคนิค จึงทำให้อีก 2 ราย คุณสมบัติไม่ผ่าน” นางสาวพัดชากล่าวและว่า กรมจะต้องประเมินผลจากรายที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการในช่วง 6 เดือน ซึ่งหากไม่มีปัญหา หรือมีข้อบกพร่อง กรมก็จะปรับปรุง ก่อนที่จะเดินหน้าจริงต่อไป ซึ่งถึงตอนนั้นผู้สนใจรายอื่นๆ ก็เข้ามาร่วมดำเนินการได้ โดยไม่ต้องเข้าแซนด์บ็อกซ์เพื่อทดสอบอีก

ทั้งนี้ แม้ฝ่ายกฎหมายจะระบุว่า ผู้ไม่ผ่านการอนุมัติมีสิทธิ์อุทธรณ์ แต่ดูแล้วเมื่อเป็นการอุทธรณ์ในสิ่งที่เห็นกันอยู่แล้วว่า “ทำผิดเงื่อนไข” ดังนั้น อุทธรณ์ไปก็น่าจะเปล่าประโยชน์

ทั้งหมดนี้ มองเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากการที่กรมสรรพากรเองยังไม่กล้าเปิดกว้างในเรื่องนี้ เพราะกลัวเรื่องการควบคุมการรั่วไหล ดังนั้นเงื่อนไขต่าง ๆจึงเคร่งครัด และรวบรัดอย่างที่เห็น ซึ่งหากใครปฏิบัติตามเงื่อนไขได้อย่างถูกต้องครบถ้วน ก็ย่อมได้สิทธิ์ไป

ส่วนใครทำไม่ได้ แม้จะมีบทบาทผลักดันกันมาอย่างไร ก็ถือว่า “ตกม้าตาย” เอง