ลุ้นอุทธรณ์ “จุดคืนแวต” พลิก “สรรพากร” ชี้ปมผิดพลาดทางเทคนิค

“แวตรีฟันด์ เซอร์วิส ไทยแลนด์” ลุ้นอุทธรณ์ผ่าน สรรพากรแบะท่าพร้อมเดินหน้ากรณีประเด็นฟังขึ้น-ไม่ผิดกฎหมาย หลังอธิบดีเรียก “หอการค้า-สมาคมค้าปลีก-ประชารัฐ D3” ถกข้อเท็จจริงร่วมกัน แจงบริษัทไม่ขาดคุณสมบัติ-แค่ผิดพลาดทางเทคนิค

เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ได้เชิญสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และผู้แทนกลุ่มประชารัฐ D3 มาหารือข้อเท็จจริงร่วมกัน หลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีมีเอกชนได้รับอนุมัติเป็นตัวแทนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรในเมือง (Downtown VAT Refund for Tourists) เพียง 1 ราย

โดยนายเอกนิติกล่าวหลังการหารือว่า หลังจากเชิญผู้เกี่ยวข้องมาหารือทำความเข้าใจข้อเท็จจริงให้ตรงกัน ซึ่งทางกรมสรรพากรเห็นว่า เอกชนรายที่ไม่ได้รับอนุมัติให้เป็นตัวแทนคืน VAT นักท่องเที่ยวในเมือง สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ โดยมีระยะเวลาอุทธรณ์ภายใน 15 วันหลังได้รับหนังสือแจ้งผลไม่อนุมัติ จากนั้นหากอุทธรณ์แล้วฟังขึ้นก็จะอนุมัติเดินหน้าต่อใน 30 วัน แต่ถ้าฟังไม่ขึ้นก็ต้องเสนอเรื่องไปกระทรวงการคลังต่อไป

ทั้งนี้ ย้ำว่าโครงการนี้เป็นการทดลอง จึงออกมาในรูปแบบแซนด์บอกซ์ โดยให้ทำในช่วง 6 เดือน ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2561-31 มี.ค. 2562 ซึ่งเมื่อทดลองแล้วก็จะดูว่าประเทศจะได้ประโยชน์อย่างไร หรือมีการรั่วไหลอย่างไร และเมื่อผลออกมาก็จะดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงแจ้งให้ทราบทั่วกันด้วยว่า กรมไม่ได้ให้สัญญาว่าหลัง 6 เดือนแล้วจะเปิดให้ทำเป็นการทั่วไป

นายเอกนิติกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากรมสรรพากรยืนยัน ไม่เคยตกลงกับกลุ่มใดว่าจะให้ดำเนินการได้ เพราะไม่สามารถตกลงได้ ดังนั้น จึงต้องออกประกาศเป็นการทั่วไป รวมถึงเป็นสาเหตุที่ต้องยกเลิก MOU ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาด้วย ส่วนประเด็นเรื่องจุดบริการ 5 จุด หรือ 3 จุด ยืนยันว่า เคยมีการคุยและสรุปในตอนสุดท้ายแล้วว่าจะให้เพียง 3 จุด ซึ่งประกาศที่ออกมาก็สอดคล้อง

โดยเหตุผลที่ต้องเป็น 3 จุด เนื่องจากต้องการให้ควบคุมและวัดผลได้ง่าย เพราะยังเป็นโครงการทดลองอยู่ อย่างไรก็ดี ผู้ที่ยื่นมา 5 จุด เพราะตัวแทนที่มายื่นตัดสินใจตัดเหลือ 3 จุดไม่ได้ จึงมีความคิดให้กรมสรรพากรเป็นผู้ตัด ซึ่งกรมสรรพากรก็ทำไม่ได้ในทางกฎหมาย

“ผู้ที่ยื่นมา 3 ราย กรมก็พร้อมเปิดให้ทั้ง 3 ราย แต่ประเด็นคือ เกิดปัญหาเชิงเทคนิค ในทางกฎหมาย จึงทำให้ 2 รายไม่ผ่าน ส่วนหลังจากนี้จะเดินอย่างไร เราคุยกันว่าจะเอาบริบทที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด คือ ต้องเป็นไปตามกระบวนการตามกฎหมาย ผู้ไม่ผ่านมีสิทธิอุทธรณ์ และทางกรมก็ต้องรับพิจารณาอย่างตรงไปตรงมา ส่วนอีกประเด็นคือ เนื่องจากเป็นการทดลอง 6 เดือน กรมต้องดูว่ากลุ่มตัวอย่างที่ได้มา เพียงพอในการพิสูจน์ว่าประเทศไทยควรมีการคืน VAT นักท่องเที่ยวในเมืองได้หรือไม่” นายเอกนิติกล่าว

นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า การพูดคุยทำให้เข้าใจได้ว่า การที่ “แวตรีฟันด์ เซอร์วิส ไทยแลนด์” ไม่ได้รับการอนุมัติเนื่องจากมีความเข้าใจผิดทางเทคนิค โดยที่ผ่านมาจะประสานงานผ่านทางกลุ่ม D3 แต่การประสานกับห้างจะผ่านทางสมาคม ทำให้เกิดรอยต่อการประสานงานขึ้น ซึ่งจากเงื่อนไขเวลาในการออกประกาศรับสมัคร ทำให้กลุ่มที่รวมตัวกัน ไม่สามารถแยกบริษัทกันเพื่อยื่นสมัครได้ทันเวลา

“ตอนนั้นเราไม่ยื่นไม่ได้ เพราะเตรียมมายื่น 5 จุด และไม่สามารถตัดจุดใดออกไปได้ เพราะอยู่ในรูป 4 บริษัท อย่างไรก็ดี ทางกลุ่มจะทำเรื่องขออุทธรณ์ต่อ เพื่อให้พิจารณาใหม่อีกครั้ง เพราะเหตุที่เราถูกตีตก ก็คือการกรอกจำนวนสถานที่เกินจากที่กรมระบุ เราก็จะพิจารณาว่าจะยื่นเท่าเดิม หรือจะตัดจำนวนที่จะยื่นใหม่อีกที ซึ่งทางสมาคมจะไปหารือกับห้างทั้งหมดถึงเรื่องนี้” นายวรวุฒิกล่าว

นางสาวพัดชา พงษ์กีรติยุต ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ กรมสรรพากร กล่าวว่า กรมจะพิจารณาข้ออุทธรณ์ โดยหากเห็นว่าเดินต่อไปได้ ก็จะอนุญาตให้เดินหน้าต่อ แต่ถ้าดูแล้วไปไม่ได้ ก็จะแจ้งให้เอกชนทราบต่อไป


“ต่อไปก็เป็นเรื่องของการอุทธรณ์ ซึ่งเราจะรับมาหารือว่าจะหาทางออกเรื่องนี้อย่างไรต่อไป โดยเป็นประโยชน์ต่อประเทศ และเจ้าหน้าที่สรรพากรก็ต้องไม่ผิด ถ้าไม่ผิด เราก็ยินดีเดินอยู่แล้ว” นางสาวพัดชากล่าว