รับมือ เศรษฐกิจปีหน้าโตชะลอ

ในรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือน ก.ย. 2561 ได้สรุปสาระสำคัญ ๆ ว่า ในช่วงไตรมาส 3 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ แต่มีความเสี่ยงด้านต่ำจากราคาอาหารสดที่ผันผวนสูง ด้านเสถียรภาพระบบการเงินไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงจุดเปราะบางและยังมีความเสี่ยงต่างประเทศ ซึ่ง กนง.ได้ชั่งน้ำหนักปัจจัยต่าง ๆ รอบด้านแล้ว แม้มีเสียงแตกในกนง. แต่ส่วนใหญ่ยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ซึ่งต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า 4 ปี นับจากวันที่ 29 เม.ย. 2558

โดย “จาตุรงค์ จันทรังษ์” ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ กนง. กล่าวว่า กนง.คงคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้อยู่ที่ 4.4% แต่ปีหน้าจะขยายตัวชะลอลง โดยปรับลดคาดการณ์จีดีพีโตเหลือ 4.2% เนื่องจากความเสี่ยงต่างประเทศ ทั้งนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐที่เข้มข้นขึ้น ความไม่แน่นอนของความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจรุนแรงขึ้นจนกระทบต่อตลาดการเงิน ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ตลอดจนเศรษฐกิจจริงได้ และปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของจีน กนง.จึงได้ปรับข้อสมมุติการขยายตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าในปี’62 จาก 3.6% ลดลงเหลือ 3.5% ส่วนปีนี้คงไว้ที่ 3.8%

“มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน จะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในปีหน้าขยายตัวต่ำกว่าคาดเดิม จึงได้ปรับลดประมาณการส่งออกไทยจาก 5% มาอยู่ที่ 4.3%”

ด้านภาคท่องเที่ยว “เลขาฯ กนง.” ชี้ว่าจากเหตุการณ์เรือล่ม จ.ภูเก็ต ถือว่าส่งผลกระทบน้อยกว่าคาด เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส 2 สูงกว่าคาด ซึ่งช่วยชดเชยนักท่องเที่ยวจีนที่หายไปในครึ่งปีหลัง ปีนี้จึงยังคงประมาณการนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 38.3 ล้านคน และปี’62 น่าจะเห็นการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนที่เลื่อนแผนเดินทางจากครึ่งหลังปีนี้ไปเป็นปีหน้า จึงคาดปีหน้าจำนวนนักท่องเที่ยวไว้ที่ 40.6 ล้านคน จากคาดเดิม 40 ล้านคน

ด้านการบริโภคภาคเอกชน นายจาตุรงค์กล่าวว่า ยังขยายตัวดีกว่าที่คาด ผลจากรายได้ภาคครัวเรือนที่ปรับดีขึ้นทั้งนอกภาคเกษตรและภาคเกษตรที่ขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผลจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
และโครงการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนก็มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นตามการบริโภค และการลงทุนเพื่อย้ายฐานการผลิตมายังไทยของบางอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออกในช่วงปลายปีนี้ที่ต่อเนื่องไปถึงปีหน้า และจากโครงการลงทุนใน EEC โครงการ PPP และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

“การใช้จ่ายภาครัฐยังมีแนวโน้มต่ำกว่าที่คาด ส่วนการลงทุนก็ลดลงทั้งของรัฐบาลกลางที่ลดลงตามประสิทธิภาพการเบิกจ่ายของบางหน่วยงาน และผลกระทบของ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ
และการลงทุนรัฐวิสาหกิจ เช่น โครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 โครงการรถไฟฟ้าชานเมือง บางซื่อ-หัวหมาก และบางซื่อ-หัวลำโพง ที่อาจเลื่อน”

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีทิศทางเพิ่มขึ้นช้า ๆ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบได้ปรับประมาณการจาก 69.2 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล มาอยู่ที่ 70.3 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

“ระดับราคาน้ำมันปัจจุบันยังไม่กระทบเศรษฐกิจ แต่หากราคาน้ำมันเริ่มอยู่ในระดับ 80 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล อาจมีโอกาสส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้”

สำหรับค่าเงินบาทต่อสหรัฐ พบว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึง 2 ต.ค.เงินบาทแข็งขึ้นราว 0.6% และบาทจะแข็งค่าสูงกว่า 5% เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าของไทย แต่ยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ดี บาทแข็งยังช่วยลดผลกระทบการนำเข้าน้ำมันด้วย

สำหรับความเสี่ยงกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) ซึ่งบางประเทศเศรษฐกิจเปราะบาง ทำให้นักลงทุนต่างชาติขายสินทรัพย์ออกจากบางประเทศ เช่น ตุรกี อาร์เจนตินา แอฟริกาใต้ และโยกเงินมาลงทุนในประเทศที่มีเสถียรภาพกว่า เช่น ไทย เกาหลีใต้ ไต้หวัน แต่โดยรวมตลาดการเงินก็ยังมีแนวโน้มผันผวนสูงในระยะต่อไป จึงต้องติดตามใกล้ชิด

ด้านความเสี่ยงในประเทศคือ จุดเปราะบางในระบบการเงินในอนาคตไทย นายจาตุรงค์กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนอยู่ระดับสูง ยังไม่เห็นสัญญาณลดลง ขณะที่พฤติกรรมพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทน (search for yield) ที่สูงขึ้นต่อเนื่อง พบว่า เงินฝากลดลง มีการย้ายไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนสูงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กองทุนรวมผสม กองทุนหุ้น กองทุนอสังหาริมทรัพย์และรีท

“สหกรณ์ออมทรัพย์ยังให้ผลตอบแทนแก่สมาชิกในอัตราสูง ทำให้สินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ขยายตัวในอัตราสูงต่อเนื่อง และเป็นแรงกดดันให้ต้องแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น”

นอกจากนี้ การแข่งขันในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ที่ส่งผลให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อลดลง สะท้อนจากสัดส่วนจำนวนบัญชีที่มีอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ (LTV) เกิน 90% เพิ่มขึ้น และจำนวนบัญชีที่มีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อรายได้ผู้กู้ (LTI) สูงขึ้น

กนง.จึงยังคงให้ติดตามความเสี่ยงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน รวมถึง SMEs ที่ยังไม่ปรับดีขึ้นชัดเจน และติดตามการออกตราสารหนี้ของภาคธุรกิจที่กระจุกตัวในธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มการลงทุนในกิจการที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลัก และลงทุนกิจการในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจสูงขึ้น


และนี่คือภาพรวมเศรษฐกิจที่แข็งแรงบางจุดและบางจุดก็ยังเปราะบาง ที่ทุกคนต้องตั้่งรับเองด้วย