ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังยอดค้าปลีกดีกว่าคาดการณ์

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 16 สิงหาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.30/31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (15/8) ที่ระดับ 33.25/27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นโดยได้รับแรงสนับสนุนจากข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ (15/8) เปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่ายอดค้าปลีกจะเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ยอดค้าปลีกที่เพิ่มขึ้นได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของยอดขายรถยนต์ และสินค้าฟุ่มเฟือย ในขณะที่สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งใหม่ (NAHB) ของสหรัฐ (15/8) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านปรับตัวเพิ่มขึ้น 4 จุด สู่ระดับ 68 จุด ในเดือนสิงหาคม โดย NAHB ระบุว่า ความเชื่อมั่นของผู้สร้างบ้านได้แรงหนุนจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากผู้บริโภค นอกจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก (15/8) รายงานว่า ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) มีการขยายตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันในเดือนสิงหาคม

 

ในส่วนของความเคลื่อนไหวของประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดย กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนต่อเนื่องจากการส่งออกสินค้าและบริการที่ขยายตัวดีขึ้น ในขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังไม่กระจายตัวเท่าที่ควร ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทยอยปรับสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอกว่าที่คาดไว้เดิมเล็กน้อยจากปัจจัยด้านอุปทาน โดยเฉพาะราคาอาหารสดเป็นหลัก ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย และเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ คณะกรรมการจึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 33.285-33.315 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 33.29/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

 

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (16/8) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1739/41 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (15/8) ที่ระดับ 1.1756/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยว่า (15/8) ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.6% ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวที่ระดับ 0.7% ทั้งนี้รายงานยังระบุว่า ปัจจัยที่ช่วยให้ GDP ขยายตัวในไตรมาส 2 นั้น มาจากอุปสงค์ภายในประเทศและการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม มูลค่าการค้าที่อ่อนแรงลง ได้สกัดแรงบวกของ GDP และส่งผลให้ GDP ในไตรมาส 2 ขยายตัวน้อย ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1692-1.1758 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1729/31 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

 

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (16/8) เปิดตลาดที่ระดับ 110.72/74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับจากราคาปิดตลาดในวันอังคาร (15/8) ที่ระดับ 110.39/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลงเนื่องจากนักลงทุนปรับลดการถือครองสินทรัพยืปลอดภัยลง หลังจากสถานการณ์ความตึงเครียดคาบสมุทรเกาหลีระหว่างเกาหลีเหนือและสหรัฐ ผ่อนคลายลง ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 110.62-110.94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 110.92/94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

 

ข้อมูลทางเศรษฐกิจท่ี่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขประมาณการเบื้องต้นจีดีพีของยูโรโซน ประจำไตรมาสทีี่ 2 (16/8) ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านสหรัฐ (16/8) ดุลการค้าประเทศญี่ปุ่น ประจำเดือนกรกฎาคม (17/8) ดุลการค้าอียู ประจำเดือนมิถุนายน (17/8) อัตราเงินเฟ้ออียู ประจำเดือนกรกฎาคม (17/8) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นสหรัฐ ประจำเดือนสิงหาคม (18/8)

 

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดืือนในประเทศอยู่ที่ -0.40/-0.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.50/+0.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ