ธปท.วัดปรอท “บริหารเสี่ยง” 5 แบงก์ใหญ่

นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.กำลังดำเนินการส่งแบบสอบถามความคิดเห็นให้แก่คณะกรรมการ (บอร์ด) และผู้บริหารของสถาบันการเงิน 5 แห่ง ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) 4 แห่งใหญ่ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (แบงก์รัฐ) 1 แห่ง โดยแบบสอบถามดังกล่าว มี 2 เรื่องหลัก คือ การทำแบบสอบถามเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กรที่มีต่อเรื่องการบริหารงาน ความคิดเห็นต่อด้านการบริหารความเสี่ยงด้านการปล่อยสินเชื่อหรือ Risk Culture จะเริ่มส่งแบบสอบถามภายในไตรมาส 3 นี้ธปท.ต้องการทราบว่า แต่ละสถาบันการเงินจะมีวิธีการจัดการและบริหารความเสี่ยงด้านต่าง ๆ อย่างไร รวมถึงการทำงานของบอร์ดที่มีการถ่วงดุลที่เหมาะสม ซึ่งอำนาจไม่ได้ตกอยู่ที่คณะกรรมการหรือผู้บริหารคนใดคนหนึ่งเท่านั้น เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของแต่ละสถาบันการเงิน บริหารงานอย่างมีเสถียรภาพในอนาคต

“การที่ทำเรื่องความเห็นสินเชื่อ เพราะการปล่อยสินเชื่อเป็นหัวใจสำคัญของสถาบันการเงิน การส่งแบบสำรวจนี้ จะส่งไปที่ผู้บริหารของฝ่ายสินเชื่อรายใหญ่ของแต่ละธนาคาร คาดว่าในไตรมาส 4 จะเริ่มประมวลผลได้ ก่อนนำไปเปิดเผยต่อสถาบันการเงินที่ทำแบบสอบถามภายในไตรมาส 1 ปี 2561”

หลังจาก ธปท.ทำผลสำรวจดังกล่าวของสถาบันการเงินทั้ง 5 แห่งเรียบร้อยแล้ว จะเริ่มส่งแบบสอบถามให้แก่ธนาคารทุกแห่ง เพื่อให้สถาบันการเงินรับรู้จุดอ่อนจุดแข็งนำไปปรับใช้กับองค์กรและพัฒนาสถาบันการเงินในอนาคตต่อไป

นายรณดลกล่าวว่า แนวคิดดังกล่าว เป็นโมเดลที่ธนาคารต่างประเทศทั่วโลกนำมาใช้ โดยประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นผู้เริ่มดำเนินการก่อน เพราะต้องการให้ทราบถึงต้นตอที่ทำให้สถาบันการเงินล้มเหลว ซึ่งส่วนสำคัญมาจากการบริหารงานของฝ่ายบริหารองค์กร หรือการปล่อยสินเชื่อที่ผิดพลาด ขณะที่ปัจจุบันสถาบันการเงินไทยยังมีสถานะแข็งแกร่ง

“จุดประสงค์หลัก ๆ ไม่ได้ต้องการบอกว่าแบงก์นี้ดีหรือไม่ดี แต่ต้องการให้แบงก์นำผลสำรวจไปเป็นกระจกสะท้อน ปรับปรุง ปรับเปลี่ยนแก้ไข โดยให้นำไปเป็นไกด์ไลน์และปรับใช้ หากพบจุดเสี่ยงก็อาจต้องมีการออกเกณฑ์มาดูแลได้ในอนาคต”