ครม.ไฟเขียวร่างกฎหมายตั้งหน่วยงานกำกับนอนแบงก์ รวบธุรกรรมกว่า 1 ล้านล้านบาทเข้าระบบ

ครม.ไฟเขียวร่างกฎหมายตั้งหน่วยงานกำกับนอนแบงก์ รวบธุรกรรมกว่า 1 ล้านล้านบาทเข้าระบบ แจง 5 กิจการเข้าข่าย “เช่าซื้อ-ลิสซิ่ง-แฟกตอริ่ง-จำนำทะเบียน-พิโกไฟแนนซ์” หวังดูแลปกป้องประชาชน

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักการของร่างพระราชบัญญัติการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ.ฯ) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ให้บริการทางการเงินบางประเภทซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจแต่ยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐกำกับดูแลอย่างชัดเจน ทำให้การประกอบธุรกิจขาดแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานและเป็นธรรม

ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ จึงจำเป็นต้องออกกฎหมายเพื่อรองรับการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินดังกล่าว

โดยร่าง พ.ร.บ.ฯ ประกอบด้วยบทบัญญัติ 3 หมวด 74 มาตรา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการ การกำกับจะดำเนินการโดยคณะกรรมการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน โดยมีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ทำหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจของผู้ให้บริการทางการเงินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

สำหรับในระยะเริ่มแรกจะมีการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจของผู้ให้บริการทางการเงินรวม 5 ประเภท ได้แก่ (1) ผู้ให้บริการทางการเงินประเภทให้สินเชื่อ ได้แก่ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) และสินเชื่อที่มีการรับสมุดคู่มือจดทะเบียนรถเป็นประกันการชำระหนี้ (สินเชื่อทะเบียนรถ) โดยผู้ให้บริการกลุ่มนี้จะต้องได้รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจจากสำนักงาน (2) ผู้ให้บริการทางการเงินประเภทที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ ได้แก่ การให้เช่าซื้อ การให้เช่าแบบลีสซิ่ง และแฟคตอริ่ง เป็นทางค้าปกติ โดยผู้ให้บริการกลุ่มนี้จะต้องขึ้นทะเบียนในการประกอบธุรกิจกับสำนักงาน

อย่างไรก็ดี ผู้ให้บริการทางการเงินข้างต้น ไม่รวมถึงการให้บริการทางการเงินข้างต้นที่ดำเนินการโดยสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้ง บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการทางการเงินที่ให้บริการทางการเงินแก่บริษัทในเครือเดียวกันกับผู้ให้บริการทางการเงินเป็นการเฉพาะ

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาจประกาศกำหนดให้ผู้ให้บริการทางการเงินซึ่งมีกฎหมายกำกับดูแลเป็นการเฉพาะอยู่แล้วไม่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัตินี้ก็ได้เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการกำกับดูแล และในอนาคตหากมีความจำเป็นก็สามารถเพิ่มประเภทของผู้ให้บริการทางเงินอื่นๆ เข้ามาอยู่ในกำกับดูแลของร่าง พ.ร.บ.ฯได้ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเพิ่มเติม

นายพรชัยกล่าวว่า การออกกฎหมายดังกล่าว กระทรวงการคลังมุ่งเน้นการกำกับดูแลด้านการให้บริการให้มีมาตรฐานและมีการปฏิบัติต่อผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพการประกอบธุรกิจของผู้ให้บริการทางการเงินดังกล่าว ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินทั้ง 5 ประเภทได้อย่างมั่นใจ รวมทั้งจะช่วยให้ภาครัฐมีข้อมูลภาพรวมเกี่ยวกับการให้บริการทางการเงินประเภทต่างๆ อย่างเพียงพอเพื่อช่วยส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ทั่วถึงและเป็นธรรมของประชาชนต่อไป

“จากการรวบรวมตัวเลขในปี 2560 ที่ผ่านมา เช่าซื้อมีธุรกรรมทั้งสิ้นประมาณ 5 แสนล้านบาท ลิสซิ่ง 2.27 แสนล้านบาท แฟกตอริ่ง 6.7 หมื่นล้านบาท จำนำทะเบียน 2 แสนล้านบาท และ พิโกไฟแนนซ์ 330 ล้านบาท (ณ ก.ย.61) คือรวม ๆแล้ว ก็ประมาณ 1 ล้านล้านบาท” นายพรชัยกล่าว