ครม.ไฟเขียวร่าง พ.ร.ฎ.ปรับปรุงการจัดเก็บภาษีสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบร่างพระร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. … รวม 4 ฉบับ (การปรับปรุงมาตรการภาษีเกี่ยวกับสำนักงานใหญ่ หรือ International Bossiness Center : IBC) เพื่อปรับปรุงมาตรการภาษีเกี่ยวกับสำนักงานใหญ่อันจะส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีเกี่ยวกับความโปร่งใสด้านภาษี การจัดเก็บภาษีอย่างเป็นธรรม และการต่อต้านการกัดกร่อนฐานภาษีและการโยกย้ายกำไร (BEPS) รวมทั้งป้องกันไม่ให้ถูกมาตรการตอบโต้จากประเทศอื่น และยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ภายหลังประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกเมื่อเดือนมิถุนายน 2560

โดยกำหนดให้ใช้มาตรการ IBC ทดแทนสิทธิประโยชน์สำหรับสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) โดยกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศและต่างประเทศ จากเดิม 10 % และ 0 % ตามลำดับ เปลี่ยนเป็นรายได้ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศคิดในอัตราเท่ากัน แบ่งออกเป็น 3 ระดับ โดยขึ้นอยู่กับรายจ่ายของบริษัทนั้น ได้แก่ 1.8 % สำหรับรายจ่าย 60-300 ล้านบาท 2.5 % สำหรับรายจ่าย 300-600 ล้านบาท และ 3.3 % สำหรับรายจ่าย 600 ล้านบาทขึ้นไป ทั้งนี้ ภายในระยะเวลา 15 รอบบัญชี

ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรมีมาตรการภาษีเกี่ยวกับสำนักงานใหญ่ 4 มาตรการ ได้แก่ 1.สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (ROH1) โดยเสนอให้ใช้ได้ถึงรอบบัญชี ปี 2563 2.ROH2 ประกาศเพื่อผ่อนคลายมาตรการ ROH1 สำหรับผู้ได้สิทธิไปแล้วจะได้สิทธิ์ตามรอบบัญชี 10-15 ปี หลักการคือ ใครได้สิทธิ์ไปแล้วจะไม่ยกเลิกเพื่อไม่ให้สูญเสียความมั่นใจของนักลงทุน สำหรับ 3. IHQ และ 4.บริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC) หลังจากครม.เห็นชอบร่างพ.ร.ฎ.ฉบับนี้แล้ว (วันนี้) จะไม่ได้สามารถใช้สิทธิ์เดิมได้อีกและใช้มาตรการ IBC แทน