ดอลลาร์ร่วง หลังทรัมป์ตำหนิเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไป

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 10 ตุลาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้  (10/10) ที่ระดับ 32.86/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (9/10) ที่ระดับ 33.05/07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงในตลาดซื้อขายปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ หลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าววิพากษ์วิจารณ์ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวานนี้ว่า เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไป ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำมาก ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจในปัจจุบันนี้กำลังทำสถิติใหม่ และเขาไม่ต้องการจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงแม้แต่เพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะในช่วงที่สหรัฐ ไม่มีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ

ขณะเดียวกันค่าเงินดอลลาร์ก็ได้รับแรงกดดันจากค่าเงินปอนด์และยูโรที่กลับมาแข็งค่า หลังจากที่มีข่าวดีว่า อังกฤษกับสหภาพยุโรป (EU) ใกล้จะบรรลุข้อตกลงเรื่อง Brexit อย่างไรก็ตามนักลงทุนเฝ้าจับตาดูตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐ ที่จะมีการเปิดเผยในวันพรุ่งนี้ (11/10) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด โดยตลาดคาดการณ์ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือนกันยายนจะเพิ่มขึ้นที่ระดับ 0.2% โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อไหวอยู่ในกรอบ 32.84-32.96 บาท/ดอลลาร์สหรับ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.95/97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/10) ที่ระดับ 1.1508/10 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (9/10) ที่ระดับ 1.1447/49 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นภายหลังจากที่นายโดมินิค ราฟ รัฐมนตรีอังกฤษฝ่ายกิจการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ได้ออกมาแสดงความเชื่อมั่นเมื่อวานนี้ว่า อังกฤษกับสหภาพยุโรป (EU) จะมีความก้าวหน้าในการทำข้อตกลงสำหรับการถอนตัวออกจาก EU ในการประชุมสุดยอดในสัปดาห์หน้า (17/18/10)

อย่างไรก็ดี นายราฟกล่าวย้ำอีกครั้งว่า EU ควรจะประนีประนอมกับรัฐบาลอังกฤษ โดยพบกัน “ครึ่งทาง” ในประเด็นปัญหาที่ยากลำบากที่สุด โดยหนึ่งในอุปสรรคขัดขวางที่สำคัญที่สุดสำหรับการทำข้อตกลง ได้แก่ปัญหาเรื่องพรมแดนไอร์แลนด์ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ขณะเดียวกัน นายโจวานนี เทรีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจอิตาลีได้กล่าวเมื่อวานนี้ว่า อิตาลีจะทำทุกสิ่งที่จำเป็นเพื่อทำให้ตลาดกลับเข้าสู่เสถียรภาพ และเขากล่าวเสริมว่า ความกังวลเรื่องแผนงบประมาณอิตาลีสำหรับปีหน้าเป็นความกังวลที่ไม่สมเหตุสมผล

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อวานนี้ ตัวเลขดุลการค้าเยอรมนีเดือนสิงหาคม ปรับสูงขึ้นสู่ 1.83 หมื่นล้านยูโรจากระดับ 1.59 หมื่นล้านยูโรในเดือนก่อนหน้า โดยยอดส่งออกของเยอรมนีลดลง 0.1% ส่วนยอดนำเข้าลดลง 2.7% ต่อเดือนในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้รายงานตัวเลขที่ออกมาเมื่อวานนี้ระบุว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีร่วงลงในเดือนสิงหาคม และสิ่งนี้บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจเยอรมนีชะลอตัวลงในไตรมาส 3 โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1484-1.1515 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1485/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/10) ที่ระดับ 113.07/09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (9/10) ที่ 113.14/16 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวานนี้มีการเปิดเผยยอดคำสั่งซื้อเครื่องจักรพืื้นฐานของญี่ปุ่นเดือนสิงหาคม ขยายตัว 6.8% มากกว่าที่ตลาดคาดว่าจะลดลง 3.9% ส่งผลให้ค่าเงินปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 112.93-113.24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 113.20/22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ แถลงการณ์ประธานเฟด สาขาซานฟรานซิสโก (10/10) ดัชนีผู้ผลิตของสหรัฐ (10/10) แถลงการณ์ประธานเฟด สาขาแอตแลนตา (11/10) การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) (11/10) ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรับ (11/10/) ประมาณการสต๊อกน้ำมันดิบของสหรัฐ (11/10) และแถลงการณ์ประธานเฟด สาขาแอตแลนตา (12/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.75/-2.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.0/-2.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ