สบน.แจงกรณีหนี้สาธารณะเพิ่ม เชื่อไม่กระทบเศรษฐกิจ หลังสื่อโซเชียลแห่แชร์หนี้สาธารณะพุ่ง

นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ชี้แจงประเด็นปรากฏข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เกี่ยวกับตัวเลขหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2561 โดยเปรียบเทียบกับตัวเลขหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2557 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะขอชี้แจงที่มาของยอดหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงที่เพิ่มขึ้นในช่วงระยะเวลาดังกล่าวว่า เป็นการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อดำเนินนโยบายการคลังในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี ‭2557 – 2561‬ รวมถึงการกู้เงินเพื่อให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อสำหรับลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ซึ่งการเพิ่มขึ้นของการลงทุนดังกล่าวสะท้อนได้จากสัดส่วนการลงทุนของภาครัฐต่อ GDP ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 4 ในปี 2557 เป็นร้อยละ 6 ในปีปัจจุบัน และสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายเพื่อการลงทุนของรัฐบาลในกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 17.5 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณ 2557 (หรือ 441,128.6 ล้านบาท) เป็นร้อยละ 22.2 ในปีงบประมาณ 2561 (หรือ 676,469.6 ล้านบาท) รวมถึงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจในสาขาคมนาคมขนส่ง ได้แก่ ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระบบรถไฟทางคู่เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งในภูมิภาค ระบบทางพิเศษในเขตกรุงเทพมหานคร และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เป็นต้น โดยในช่วงปี ‭2558 -2561‬ มีการเบิกจ่ายเม็ดเงินลงทุนผ่านโครงการดังกล่าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจรวมทั้งสิ้น 330,905.46 ล้านบาท

นายธีรัชย์ กล่าวต่อว่า ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ในเดือนสิงหาคม 2561 เท่ากับร้อยละ 41.32 ยังอยู่ภายใต้สัดส่วนการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยหากเปรียบเทียบกับระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ในเดือนสิงหาคม 2557 ที่ร้อยละ 43.12 พบว่ามีแนวโน้มลดลง แสดงให้เห็นว่าการลงทุนของรัฐบาลผ่านระบบงบประมาณและผ่านการลงทุนของรัฐวิสาหกิจส่งผลให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเพิ่มขึ้นได้ตามศักยภาพที่ควรจะเป็น

สำหรับการบริหารหนี้สาธารณะในอนาคตนั้น นอกจากจะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะแล้ว ยังต้องสอดคล้องกับพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งประกาศใช้ในเดือนเมษายน 2561 ด้วย โดยมีการกำหนดสัดส่วนการบริหารหนี้สาธารณะเพื่อรักษาวินัยในการก่อหนี้ของรัฐบาล ซึ่งนอกจากการรักษาระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว ยังต้องคำนึงถึงสัดส่วนรายได้ของรัฐบาลเพื่อการชำระหนี้ในอนาคตด้วย โดยรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อการชำระหนี้ในสัดส่วนที่เหมาะสม กล่าวคือชำระดอกเบี้ยตามภาระที่เกิดขึ้นจริงและชำระคืนต้นเงินกู้ตามสัดส่วนที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด คือ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.5 ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย ทั้งนี้ การชำระคืนต้นเงินกู้จะต้องอยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 2.5 – 3.5 ของกรอบงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี รวมถึงกำหนดสัดส่วนงบลงทุนขั้นต่ำไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของวงเงินงบประมาณในแต่ละปี โดยกำหนดให้การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณต้องนำไปใช้จ่ายเพื่อการลงทุนเท่านั้น ทำให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบในการจัดเก็บรายได้ให้เพียงพอสำหรับรายจ่ายประจำ ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินนโยบายการคลังและการบริหารหนี้สาธารณะของรัฐบาลมีความยั่งยืนในระยะยาว