คุมสินเชื่อบ้านกระทบสั้น ตลาดทุนหนุนสกัดเก็งกำไร

ประธาน FETCO มอง ธปท.คุมสินเชื่ออสังหาฯ หนุนเสถียรภาพเศรษฐกิจ “ฟิทช์ เรทติ้งส์” ชี้กระทบสินเชื่อกู้ซื้อบ้านโตชะลอ ส่วนแง่ดีช่วยลดเสี่ยงด้านคุณภาพสินเชื่อแบงก์ ยันไม่กระทบเรตติ้งกลุ่มแบงก์ที่อยู่ระดับ “เสถียรภาพ” ประเมินเอ็นพีแอลผ่านจุดพีกแล้ว สัญญาณคุณภาพสินเชื่อดีขึ้น ด้านศูนย์วิจัยกสิกรฯชี้ ธปท.แตะเบรกสินเชื่อกู้บ้านกระทบสั้น คาดปีหน้าขยายตัวต่ำกว่า 6% แต่เป็นผลดีระยะกลาง

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FECTO) กล่าวว่า กรณีหากธนาคารพาณิชย์ควบคุมการปล่อยสินเชื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มากขึ้น ในแง่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์คงต้องดูเป็นรายบริษัท เพราะบางบริษัทมีนโยบายเรียกเงินดาวน์จำนวนมาก ส่วนบางรายก็ไม่ได้เน้นเจาะกลุ่มลูกค้า 10 ล้านบาทขึ้นไป ฉะนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงไม่เท่ากัน

“จากที่เห็นมีการเข้ามาซื้อน้อยลง แต่จริง ๆ แล้วผลกระทบอาจมีไม่มาก เพราะการคุมเข้มเน้นไปที่ไม่ต้องการให้คนเข้ามาเก็งกำไรจากการซื้อบ้านหลังที่ 2 ที่มีมูลค่า 10 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งคาดว่านโยบายนี้สามารถสร้างเสถียรภาพให้เศรษฐกิจได้” นายไพบูลย์กล่าว

นายพาสันติ์ สิงหะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสถาบันการเงิน ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่จะออกมานั้น ไม่น่าจะกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิตเรตติ้ง) ของกลุ่มสถาบันการเงิน เนื่องจากหากมีการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวในปีེ จะส่งผลต่อการเติบโตของสินเชื่อที่อยู่อาศัยชะลอตัวในระยะสั้น แต่จะส่งผลดีในระยะกลางมากกว่า เพราะหากสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีการเติบโตที่เร็วเกินไป จะเกิดความเสี่ยงด้านคุณภาพสินเชื่อได้

“เชื่อว่า ธปท.น่าจะพยายามลดแรงกดดันหรือ downside risk (ลดความเสี่ยง) คุณภาพสินเชื่อนี้ให้น้อยลง ถ้าผลเป็นไปตามที่ ธปท.ต้องการหรือตั้งเป้าไว้ ก็ไม่น่าจะส่งผลไม่ดีต่อเรตติ้งของกลุ่มธนาคาร” นายพาสันติ์กล่าว

โดยในปีนี้อันดับความน่าเชื่อถือของกลุ่มสถาบันการเงินอยู่ระดับที่มีเสถียรภาพ (stable) ซึ่งมาจากปัจจัยของคุณภาพสินเชื่อที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) น่าจะผ่านจุดสูงสุด (peak) ไปแล้ว ทำให้ต้นทุนการปล่อยสินเชื่อ (credit cost) ดีขึ้น และต้นทุนในการตั้งสำรองของธนาคารลดลง นอกจากนี้ จะส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารปรับดีขึ้นด้วย

ทั้งนี้ อันดับเรตติ้งแบงก์ดีขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ระดับลบ (negative) โดยเป็นผลมาจากที่ตั้งแต่อดีตจนถึงปีླྀ กลุ่มสถาบันการเงินมีความเสี่ยงในเรื่องเอ็นพีแอลมาตลอด ทำให้ต้องตั้งสำรองสูง

“ทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับในปีนี้ส่งผลให้การประเมินเครดิตเรตติ้งของปีหน้า ที่จะพิจารณาในเดือน พ.ย.นี้น่าจะยังคงอันดับอยู่ที่ระดับ stable อยู่ ส่วนปัจจัยต่างประเทศเรื่องความผันผวนของตลาดการเงินโลก และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐไม่ได้ส่งผลกระทบกับไทยมากนัก เพราะไทยมีเสถียรภาพทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่าประเทศอื่นในตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐก็ไม่น่ามีผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินกลุ่มสถาบันการเงิน เพราะหนี้ต่างประเทศของธนาคารมีสัดส่วนที่น้อยมาก แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาจะมีหลายธนาคารจะออกหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐบ้าง แต่ออกเพื่อทดแทนของเดิมที่หมดอายุ” นายพาสันติ์กล่าว

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยของ ธปท.จะส่งผลกระทบอย่างชัดเจนมากขึ้นในปีหน้า เนื่องจากจะมีการบังคับใช้มาตรการในช่วงต้นเดือน ม.ค. 62 โดยคาดว่าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินอาจจะขยายตัวลดลงในกรอบไม่เกิน 6.0% จากปีนี้ที่คาดว่าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลของสถาบันการเงินอาจขยายตัว 6.5% (กรอบประมาณการที่ร้อยละ 6.3-6.8) ในขณะที่ปีླྀ เติบโตอยู่ที่ 6.1%


อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้าการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ และตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย จะมีคุณภาพมากขึ้น