จับตาดีลซื้อธุรกิจทีวีดิจิทัล Q4 กสิกรซุ่มเจรจาปล่อยกู้รายใหญ่

กสิกรชี้เทรนด์ดีลซื้อกิจการ-ควบรวมทีวีดิจิทัลไตรมาส 4 ปีนี้ ส่งซิกรายใหญ่ดอดเจรจาซื้อกิจการ ไซซ์แต่ละดีลมูลค่าหลักพันล้านบาท แถมมีลุ้นปล่อยสินเชื่อกลุ่มสื่อสารที่ประมูลคลื่นความถี่ 2600 อีกระลอก

นายวัลลภ ว่องจิตต์วุฒิไกร รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้ารายใหญ่ ที่อยู่นอกอุตสาหกรรมดิจิทัลและวงการทีวีดิจิทัล เพื่อเข้าไปปล่อยสินเชื่อสำหรับซื้อกิจการทีวีดิจิทัล และการปล่อยกู้เพื่อควบรวมธุรกิจให้กับลูกค้าของธนาคาร ซึ่งแต่ละดีลจะมีมูลค่าประมาณหลักพันล้านบาท โดยสาเหตุที่ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมาก เพราะการเข้าไปซื้อกิจการใหม่ จะต้องซื้อทั้งสัมปทานและจ่ายค่าช่องด้วย จึงทำให้มูลค่าการซื้อขายค่อนข้างสูง

“ในกลุ่มทีวิดิจิทัล ยังคงมีความต้องการขอสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ก็มีกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ที่ไม่ได้อยู่ในวงการทีวีดิจิทัลที่อยากเข้าไปซื้อกิจการของรายเก่าที่ทำอยู่แล้ว ซึ่งมีการคุยดีลพวกนี้มาตลอด เพราะมีคนอยากออกจากทีวีดิจิทัล เนื่องจากสายป่านไม่ถึง ดังนั้นก็ต้องดูว่า จะสามารถหาผู้ร่วมทุนใหม่เข้ามาได้หรือไม่ หรือจะทนแบกภาระขาดทุนต่อไป เพราะทีวีดิจิทัลมีทั้งคนที่ทำแล้วกำไร รวมถึงขาดทุน หลังจากทีวีแตกช่องเยอะ จนเรตติ้งแต่ละช่องตก” นายวัลลภกล่าว

สำหรับโอกาสในการเข้าไปปล่อยกู้ในการซื้อกิจการดังกล่าว มีความเป็นไปได้ทั้ง 3 แนวทาง คือการปล่อยกู้ระยะสั้น สินเชื่อระยะยาว และการออกหนังสือค้ำประกัน (L/G) ซึ่งการหารือเพื่อเข้าไปปล่อยกู้ดังกล่าว น่าจะมีความชัดเจนภายในไตรมาส 4 ปีนี้ เพราะต้องรอนโยบายจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่ว่าจะเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีโอกาสที่จะได้ดีลใหม่ ๆ เพิ่มเติม ในอุตสาหกรรมสื่อสาร ที่มีการประมูลคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ต่อเนื่อง ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารจะได้ปล่อยสินเชื่อดีลใหม่ ๆ ตั้งแต่ไตรมาส 4 เป็นต้นไป

“ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าเราอยู่แล้ว ที่เป็นรายใหญ่ในวงการสื่อสาร ซึ่งการลงทุนของกลุ่มนี้ก็มีต่อเนื่อง เพราะต้องลงทุนยาว ทำให้การขอสินเชื่อมีเข้ามาอยู่ตลอด แต่ลักษณะการปล่อยกู้ส่วนใหญ่ จะเป็นการปล่อยกู้ร่วมกับหลายธนาคาร” นายวัลลภกล่าว

สุวัฒน์ เตชะวัฒนวรรณา

นายสุวัฒน์ เตชะวัฒนวรรณา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า หากพิจารณาสินเชื่อที่อนุมัติให้กับกลุ่มสื่อสารและกลุ่มทีวีดิจิทัลในแต่ละปี จะพบได้ว่า มีการขยายตัวต่อเนื่อง แต่สัดส่วนสินเชื่อในกลุ่มนี้จะอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ โดยไม่ถึง 5% หากเทียบกับสินเชื่อทั้งหมดที่มีอยู่ 5.5 แสนล้านบาท

สำหรับการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ นายสุวัฒน์ คาดว่าจะเติบโตได้ราว 8% จากครึ่งปีแรกที่โตราว 4-6% โดยเฉพาะเติบโตจากการเข้าไปปล่อยสินเชื่อในกลุ่มพลังงาน เกษตร และอสังหาริมทรัพย์

ส่วนแนวทางป้องกันความเสี่ยงของธนาคาร ภายใต้แนวโน้มเอ็นพีแอลในระบบที่มีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้น ธนาคารใช้วิธีการจัดพอร์ตสินเชื่อไม่ให้กระจุกตัวอยู่ที่สินเชื่อประเภทใดประเภทหนึ่งจนเกินไป ซึ่งเฉลี่ยแล้วมีการแบ่งสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อทุกอุตสาหกรรมไม่ให้เกิน 12% ของสินเชื่อรวม อีกทั้งหากลูกค้าขอสินเชื่อเกินระดับ 1 หมื่นล้านบาทขึ้นไป ธนาคารใช้วิธีหาพาร์ตเนอร์ โดยเข้าไปปล่อยลักษณะกู้ร่วมกับธนาคารอื่น “ซินดิเคตโลน” (การปล่อยสินเชื่อร่วม) เพื่อกระจายความเสี่ยงในการปล่อยกู้


“ปีนี้เราพยายามคุมหนี้เสียในพอร์ตรายใหญ่ไม่ให้เกิน 3% จากปัจจุบันที่อยู่ 2% ปลาย ๆ เพราะเราพยายามดูกลุ่มที่มีศักยภาพ และมีแนวทางการกระจายความเสี่ยงหลากหลายแนวทาง” นายสุวัฒน์กล่าว