สิ้นปีเงินต่างชาติชะลอเข้าบอนด์ ThaiBMA ชี้พันธบัตรรัฐยีลด์พุ่งทุกรุ่น

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย คาดสิ้นปีนี้ยอดออกหุ้นกู้ใหม่ทะลัก 8.8 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย ชี้ช่วงที่ผ่านมาผลตอบแทนบอนด์ไทยขยับขึ้นทุกรุ่น คาดเทรนด์ช่วงที่เหลือปีนี้จะขึ้นช้าลง ฟากต่างชาติซื้อสุทธิแล้ว 1 แสนล้านบาท ล่าสุดถือบอนด์ไทยยาวขึ้น อายุเฉลี่ย 7.5 ปี

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า แนวโน้มการออกหุ้นกู้ (บอนด์) ภาคเอกชนจนถึงสิ้นปี 2561 นี้ คาดจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 8.8 แสนล้านบาท มากกว่าราว 1 แสนล้านบาท จากการวางเป้าหมายไว้อยู่ที่ 7.2-7.5 แสนล้านบาท หลังจากที่ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ภาคเอกชนมีการออกหุ้นกู้แล้ว 7.11 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 18.69% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ยอดคงค้างของตลาดตราสารหนี้โดยรวมอยู่ที่ 12.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.2% จากปลายปีླྀ ที่อยู่ที่ 11.64 ล้านล้านบาท

ธาดา พฤฒิธาดา

สำหรับการออกตราสารหนี้เพิ่มขึ้นจากทั้งภาคการผลิต (real sector) และสถาบันการเงินที่มีการออกหุ้นกู้เพิ่มขึ้น 4% โดยในส่วนของภาคการผลิตทุกกลุ่มธุรกิจที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูงระดับ (AA- ถึง AAA มีการออกหุ้นกู้เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (nonrated) พบว่ากว่า 68% จะเป็นการออกหุ้นกู้ที่มีหลักประกัน หรือคิดเป็นมูลค่าราว 17,451 ล้านบาท

“การที่เอกชนออกหุ้นกู้เพิ่มมากขึ้นนั้น ก็เพื่อรองรับการลงทุนตามโครงการภาครัฐที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต อย่างเช่น ไทยเบฟเวอเรจ มีการออกหุ้นกู้ปีนี้ไปแล้วกว่า 1.2 แสนล้านบาท” นายธาดากล่าว

ส่วนทิศทางอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) ไทยในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ พบว่าได้มีการปรับตัวสูงขึ้นทุกรุ่นอายุ โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 2 ปี ยีลด์ปรับสูงขึ้น 0.48% ส่วนรุ่นอายุ 10 ปี ปรับขึ้น 0.27% จากสิ้นปีที่แล้ว พร้อมประเมินว่าในช่วงที่เหลือของปีอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สอดรับทิศทางเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดคงอยู่ระดับเดิมที่ 1.50% จนถึงสิ้นปีนี้ เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะรอดูผลกระทบจากมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย

“ขณะนี้ถ้าดูผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อายุ 10 ปี อยู่ที่ 3.22% แต่เขาก็ยังมีเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงและทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ยังให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 2.87% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อต่ำและยังไม่มีทิศทางจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จึงมองว่าผลกระทบในแง่ผลตอบแทนที่ดีขึ้นคงเป็นเพียงทางจิตวิทยาเท่านั้น เพราะเรามีกันชนที่มากพอสมควร แต่ก็ต้องดูปัจจัยในแต่ละประเทศอีกทีด้วย” นายธาดากล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นักวิเคราะห์หลายสถาบันเริ่มมีมุมมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐอาจจะใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้ว ด้านกำไรบริษัทจดทะเบียนสหรัฐคาดจะสูงสุดแล้วในปีนี้ หลังจากใช้นโยบายปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากบางประเทศ ซึ่งจะเห็นว่านักลงทุนเริ่มจะนำเงินออกจากตลาดหุ้นสหรัฐ และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2-10 ปี ที่อยู่ 0.24% ถือว่ามีแนวโน้มลดลง และหากลดลงไปอยู่ที่ระดับ 0% หรือติดลบจะเป็นการส่งสัญญาณว่ากำลังจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจกลับมาอีกครั้ง

สำหรับเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ของไทยว่า ในช่วงที่เหลือปีนี้คงจะเห็นเงินต่างชาติไหลเข้าไม่มากแล้ว หลังจากที่ช่วง 9 เดือนแรกเงินไหลเข้าสูงทำสถิติ และปีหน้ายังคาดว่ายังไหลเข้ามา ขณะที่เทรนด์บอนด์ยีลด์ไทยน่าจะค่อย ๆ ปรับเพิ่มขึ้นตามบอนด์ยีลด์สหรัฐ

ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมานั้น นักลงทุนต่างชาติมีมูลค่าการลงทุนสะสมในตราสารหนี้ไทยทั้งสิ้น 940,349 ล้านบาท คิดเป็น 7.53% ของมูลค่ารวมทั้งตลาด ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์ตลาดตราสารหนี้ไทย โดยมียอดซื้อสุทธิบอนด์ไทย 100,944 ล้านบาท แยกเป็นตราสารหนี้ระยะยาวของภาครัฐ มียอดซื้อสุทธิประมาณ 171,971 ล้านบาท ส่วนตราสารหนี้ระยะสั้นจะเป็นการขายออกหรือครบอายุจำนวน 71,025 ล้านบาท

“จากเกิดวิกฤตการเงินของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (EM) ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เม็ดเงินต่างชาติไหลออกจากตลาด EM เข้ามาหาตลาดตราสารหนี้ไทยมากขึ้น โดยถือครองบอนด์มีอายุยาวขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 7.5 ปี จากต้นปีที่เฉลี่ย 6.29 ปี เนื่องจากไทยถูกมองว่าเป็นประเทศที่ปลอดภัยในการลงทุน (safe haven) จากปัจจัยสนับสนุนทั้งด้านพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดีกว่าประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ส่วนอัตราเงินเฟ้อไทยยังอยู่ระดับต่ำ 1.3% รวมถึงการเกินดุลบัญชีการค้ามากกว่า 10% ของจีดีพี และสัดส่วนหนี้ต่างประเทศที่มีไม่ถึง 2% ของหนี้รัฐบาลทั้งหมด” นายธาดากล่าว