Nodeal Brexit… ความเสี่ยงที่มาพร้อมกับโอกาส

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก

โดย ขวัญใจ เตชเสนสกุล EXIM BANK

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา กระแส Brexit เริ่มกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง เมื่อใกล้จะถึงการประชุม EU Summit ในวันที่ 18 ต.ค. 2561 ซึ่งถือเป็นเส้นตายเดิมที่ UK และ EU คาดไว้ว่าน่าจะหาข้อสรุปร่วมกันได้แล้ว แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน จนทำให้กระแสการแยกตัวแบบไร้ข้อตกลง (nodeal Brexit) มีความเป็นไปได้มากขึ้น แม้แต่รัฐบาลอังกฤษยังได้ออกประกาศให้ภาคธุรกิจและประชาชนเตรียมพร้อมหากต้องออกจาก EU แบบไร้ข้อตกลง ทั้งนี้ การแยกตัวแบบ nodeal Brexit ถือว่ามีความรุนแรงกว่าการแยกตัว 2 รูปแบบเดิมที่หลายฝ่ายคาดไว้ก่อนหน้าทั้ง soft Brexit (ยังเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เงินทุน และแรงงานได้อย่างเสรี แต่มีข้อจำกัดบางประการเท่านั้น) hard Brexit (ถูกตัดสิทธิ์จากการเปิดเสรีเดิมทั้งหมด แต่ยังเปิดโอกาสให้เจรจาทำข้อตกลงการค้าในรูปแบบอื่นได้หลังวันที่ 29 มี.ค. 2562 จนกว่าจะพ้นสมาชิกภาพอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ม.ค. 2564) ซึ่งการแยกตัวแบบ nodeal Brexit เป็นการแยกตัวแบบเด็ดขาดและทันทีหลังวันที่ 29 มี.ค. 2562 โดยปราศจากข้อตกลงใด ๆ ซึ่งจะทำให้การค้าการลงทุนและการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีระหว่าง UK และ EU ที่มีมานานกว่า 40 ปียุติลงทันที โดย IMF คาดว่าหากเกิด nodeal Brexit จะทำให้เศรษฐกิจ UK และ EU ลดขนาดลง 3.9% และ 1.5% ตามลำดับในอีก 10 ปีข้างหน้า เมื่อเทียบกับกรณีที่เจรจากันได้ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาผลกระทบต่อไทยแล้วอาจเกิดได้ทั้งความเสี่ยงและโอกาสใน 2 มิติ ดังนี้

ความเสี่ยงด้านการค้า ในระยะสั้นการส่งออกของไทยอาจได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อของชาว UK และ EU ที่ลดลง โดยคาดว่าการส่งออกไป UK อาจได้รับผลกระทบมากกว่า เนื่องจากเงินปอนด์มีแนวโน้มอ่อนค่ามากกว่าเงินยูโรจากเศรษฐกิจ UK ที่จะถูกกระทบมากกว่าจากกำแพงภาษีที่จะเกิดขึ้น เพราะการค้าของ UK ที่พึ่งพา EU ถึงกว่า 50% ขณะที่การค้าของ EU พึ่งพา UK เพียง 5% เท่านั้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินทั่วโลกรวมทั้งเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้นจากทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินที่อาจเปลี่ยนไป โดยเฉพาะธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่อาจชะลอแผนการใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดอย่างในปัจจุบัน หากเกิด nodeal Brexit ล่าสุด BOE เพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อเดือนสิงหาคม ขณะที่ ECB มีแผนจะยุติมาตรการ QE ปลายปีนี้ และอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอีก 1-2 ปีข้างหน้า

โอกาสด้านการค้า การแยกตัวแบบ nodeal Brexit จะทำให้ UK กลายเป็นประเทศที่ไม่มีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศใดเลย ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มโอกาสให้ไทยสามารถเจรจาทำ FTA กับ UK ได้ง่ายขึ้น เนื่องจาก UK จำเป็นที่ต้องเร่งทำข้อตกลงกับประเทศคู่ค้าเดิมให้ได้เร็วที่สุด เพื่อเลี่ยงกำแพงภาษี นอกจากนี้ การที่หลายบริษัทที่เคยใช้สิทธิประโยชน์จากระบบตลาดเดียว (single market) และสหภาพศุลกากร (customs union) มีแนวโน้มย้ายฐานการผลิตออกจาก UK ไปประเทศอื่นๆ ใน EU มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า อาทิ ฮังการี โปแลนด์ โรมาเนีย เป็นต้น จะทำให้เกิดการกระจายรายได้และกำลังซื้อไปยังประเทศอื่น ๆ ในยุโรปมากขึ้น แทนที่จะกระจุกตัวอยู่ที่ UK ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ในยุโรป ปัจจัยดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ส่งออกไทยมีทางเลือกมากขึ้น ในการกระจายตลาดไปสู่ตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ ในยุโรป ด้านการลงทุน ถือเป็นโอกาสที่ดีในการเร่งดึงดูดนักลงทุนจากทั้ง UK และ EU ให้เข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ไทยมี supply chain แข็งแกร่งและเป็นอุตสาหกรรมที่เคยใช้ UK เป็นฐานการผลิต อาทิ รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงซึ่งไทยให้สิทธิประโยชน์อย่างมากสำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ขณะเดียวกันก็ถือเป็นจังหวะที่ดีของนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปลงทุน หรือซื้อกิจการที่ยังมีศักยภาพเติบโตในอนาคตทั้งใน UK และ EU ในช่วงที่ค่าเงินของทั้งสองภูมิภาคอ่อนค่าลงมาก เพื่อกระจายธุรกิจและฐานลูกค้าไปยังตลาดใหม่ ๆ ในยุโรปมากขึ้น

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าบทสรุปของ Brexit จะออกมาในรูปแบบใด ผู้ประกอบการไทยก็ควรเตรียมเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากการส่งออกและอัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น ขณะเดียวกันก็อาจเตรียมเงินทุนให้เพียงพอเพื่อหาลู่ทางและสร้างโอกาสจากช่องว่างทางการค้าการลงทุนใหม่ ๆ ในเวลาที่เหมาะสมให้ได้ก่อนคู่แข่ง


Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ EXIM BANK