ชู บลจ.ทำนักลงทุนบัญชีเดียว สมาคมปั๊มกองทุนเกษียณ 45%

ส.บริษัทจัดการลงทุนปักธงเป้าหมายใหม่ ปั๊มเม็ดเงินลงทุนเพื่อการเกษียณพุ่ง 45% ต่อจีดีพี ชูปรับฐานข้อมูล ปั้นบัญชีนักลงทุนเป็น “บัญชีเดียว”

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกิตติมศักดิ์ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคม บลจ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาคมบริษัทจัดการลงทุนอยู่ระหว่างจัดทำแผนงานใหม่ โดยหนึ่งในแผนงาน คือ กำหนดเป้าหมายเม็ดเงินลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณของทั้งประเทศ เพิ่มเป็น 45% ต่อมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จากปัจจุบันอยู่ที่ 25% ต่อจีดีพี ซึ่งประกอบด้วยเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนประกันสังคมในส่วนที่เป็นบำนาญ และอาจรวมกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ด้วย ซึ่งจะผลักดันให้ออกมาถูกต้อง

นอกจากนี้ กำลังเริ่มจัดทำฐานข้อมูลผู้ลงทุนให้เป็น “บัญชีเดียว” เนื่องจากปัจจุบันข้อมูลจะแยกกันไปตามแต่ละบริษัทจัดการลงทุน ดังนั้นการจัดทำให้เหลือ “บัญชีเดียว” จะเห็นภาพรวมว่า นักลงทุน 1 รายมีการลงทุนอะไรบ้าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในเชิงนโยบายและอุตสาหกรรม รวมถึงแต่ละบุคคลได้ด้วย

“การลงทุนของแต่ละคนอาจจะไม่ได้ลงทุนในที่เดียว แต่จะมีการซื้อหลายกองทุน หลาย บลจ.หรือมีการลงทุนกับหลักทรัพย์ เราก็อยากจะรู้ว่า total wealth ของแต่ละคนมีเท่าไหร่ และมีสัดส่วนอะไรอยู่ที่ไหนบ้าง”

ขณะที่ปัจจุบันอุตสาหกรรมกองทุนรวม ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 61 มีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) อยู่ที่ 5.5 ล้านล้านบาท ถือว่าไม่น้อยเมื่อเทียบสัดส่วนจีดีพีที่อยู่ 16-17 ล้านล้านบาท โดยมีจำนวนบัญชีผู้ถือหน่วยราว 6.2 ล้านบัญชี และมีกองทุนให้เลือกลงทุนราว 1,500 กองทุน ซึ่งภาพรวมกองทุนรวมค่อนข้างมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก แต่ในระยะสั้นอาจจะมีอุปสรรคเรื่องภาษีกองทุน LTF ซึ่งต้องแก้ไขกันต่อไป

สำหรับทิศทางสมาคมในปี”62 อยู่ระหว่างดำเนินการโดยเฉพาะการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่จะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีปีหน้าเป็นปีสุดท้าย เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เสนอแนวคิดต่อกระทรวงการคลัง อาทิ การออกกองทุนที่เกี่ยวข้องกับผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น โดยปัจจุบันกองทุน LTF มีผู้ถือหน่วยลงทุนประมาณ 1.1 ล้านบัญชี ซึ่งเป็นกองทุนกลุ่มคนระดับกลาง ซึ่งจะลดหย่อนภาษี หรือยกเลิกการลดหย่อนภาษีกอง LTF ขึ้นอยู่กับอำนาจของรัฐ

“ภาครัฐจะมองผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างไร อย่าไปโฟกัสช่วงใดช่วงหนึ่ง เพราะการลงทุนถือเป็นเรื่องการวิ่งแบบระยะยาว ในระหว่างทางก็อาจเกิดมรสุม เราอาจจะต้องผ่านเศรษฐกิจที่มีวงจรหลาย ๆ รอบ ปีหน้าคงเป็นปีที่ไม่ง่ายนัก” นางวรวรรณกล่าว