เศรษฐกิจปีหน้ายังต้องจับตา-สงครามการค้าส่งผล ไทยดีแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ต้องแก้ไขปัญหาคอขวด

ธนาคารกสิกรไทย จัดเสวนาหัวข้อ “Trade war อุปสรรคหรือโอกาส?” ในงานเสวนา “ความเสี่ยงและโอกาสการลงทุน ในภาวะสงครามการค้าโลก” เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา ชี้ปีหน้ายังต้องจับตา เศรษฐกิจไทยยังคงไปได้ แต่ต้องแก้ปัญหาทำเศรษฐกิจโตยาก

สงครามการค้ากระทบอาเซียนไม่มาก มาเลย์โดนเยอะสุด!

ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย กลุ่มธนาคารโลก (World Bank) กล่าวว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในขณะนี้เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลงแล้ว หลังจากที่ดีต่อเนื่องมา 2 ปีจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่ว่าการฟื้นตัวนี้ในตอนนี้ได้ถึงสุดสูงสุดแล้ว โดยปัจจัยที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีการชะลอตัวลงนั้นมาจากสงครามการค้า แต่เชื่อว่าจะกระทบกับประเทศในแถบอาเซียนไม่มากนัก

เมื่อเทียบกับความสัมพันธ์ในอุตสาหกรรมของจีน ประเทศไทยมีอันดับ 2 – 3 ที่มีการเชื่อมโยงการค้ากับจีน จึงได้รับผลกระทบบ้างเล็กน้อย โดยประเทศมาเลเซียจะได้รับผลกระทบมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากมีสินค้าที่ส่งออกเพื่อผลิตในจีนมากกว่าประเทศอื่น ๆ

ไทยต้องแก้ไขคอขวด-ศก.ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง

ดร.เกียรติพงศ์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยในปีหน้าจะเติบโตอยู่ที่ 3.9% เนื่องจากการเติบโตเต็มศักยภาพแล้ว จากการส่งออกที่คาดว่าจะลดลง ที่มีผลมาจากการกีดกันทางการค้า และการชะลอตัวในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาคอขวดในเศรษฐกิจก่อน รวมถึงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจโตยาก เช่น พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่ควรจะทำให้ง่ายขึ้น การปรับปรุงภาครัฐวิสาหกิจ และสิ่งที่สำคัญคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ทั้งยังมองว่า เศรษฐกิจไทยยังคงดีอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่จะกระจุกตัวอยู่แค่กับกลุ่มใหญ่ ๆ จึงทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่มีทักษะน้อย เศรษฐกิจต่างจังหวัด ภาคเกษตร การลงทุนภาครัฐ ภาคเอกชน

ครึ่งปีหลังไทยโต 4%-นทท.จีนหดส่งผลกระทบ

ด้านประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สงครามการค้ามีส่วนที่ให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง ซึ่งจากการคาดการณ์ของหลายสำนัก รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มองว่าในครึ่งปีหลังการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยจะโตขึ้นเพียงแค่ 4.0 % ในขณะที่ครึ่งปีแรกโต 4.8% เนื่องจากปัญหาทางด้านการส่งออก ซึ่งในตอนนี้มีฐานที่สูง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มมีการชะลอตัวลง และทางด้านการท่องเที่ยว ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดน้อยลง เนื่องจากการอ่อนค่าลงของเงินหยวน ส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวจีนลดลงจากหลายประเทศทั่วโลก ทำให้การท่องเที่ยวไทยหดตัวลง ส่งผลทำให้การลงทุนของภาครัฐและเอกชนน่าจะกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยแทนภาคการท่องเที่ยว

นโยบายก่อนเลือกตั้งมีผล!

นอกจากนี้ ประกิต ยังมองว่า สำหรับการคาดการนโยบายของรัฐบาลช่วงก่อนเลือกตั้ง น่าจะมีการกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน ผลักดัน EEC และกระตุ้นการบริโภคในประเทศ รวมถึงกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง ให้คนไทยเที่ยวในประเทศเพื่อทดแทนการเสียนักท่องเที่ยวจีนแทน ซึ่งกลุ่มที่จะได้ประโยชน์ที่มองเห็นได้หลัก ๆ คือ ผู้รับเหมา ค้าปลีก ธนาคารพาณิชย์ โรงแรม ท่องเที่ยว เนื่องจากช่วงปลายปีเป็นฤดูท่องเที่ยว ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอย รวมถึงพิธีบรมราชาภิเษกที่อาจจะเกิดขึ้นปลายปีอาจจะกระตุ้นการจับจ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้นได้

ส่งออกยิ้ม ทำกำไรได้ ส่วนปีหน้าต้องจับตา

ส่วนด้านส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกเองก็ยังมีความน่าสนใจ เนื่องจากในไตรมาส 3 นี้ จะสามารถทำกำไรได้ดีที่สุดของกลุ่มส่งออก เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าลงกว่าไตรมาส 2 และในไตรมาส 4 ทิศทางของเงินบาทยังคงอ่อนค่าอยู่ ซึ่งเอื้อต่อกลุ่มส่งออก ทำให้ยังสามารถเก็งกำไรได้ในระยะสั้นและกลางได้ ส่วนในระยะยยาวปีหน้ายังคงต้องเฝ้าติดตามต่อไป

เงินบาทอ่อนค่า เหตุได้ผลกระทบสงครามการค้าจีน-สหรัฐ

กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทในปัจจุบันมีความผันผวนค่อนข้างสูงมาก โดยมีปัจจัยมาจากผลกระทบปัญหาการต่อสู้ของสองชาติมหาอำนาจระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่ทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยมองว่าสหรัฐยังได้เปรียบกว่าจีน เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ตอนนี้จะเห็นได้ว่าการที่สหรัฐฯ ออกนโยบายสำคัญที่พยายามควบคุมเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวที่ดี ในขณะที่เศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัวและค่าเงินหยวนอ่อนค่า จากการทำสงครามการค้ากับสหรัฐ และนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของจีน จึงทำให้จีนต้องใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าเป็นการสวนทางกัน

ส่วนทางด้านเศรษฐกิจของไทยเองก็จะได้รับผลกระทบทางด้านการส่งออก และจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงเนื่องจากค่าเงินหยวนอ่อน จึงทำให้นักท่องเที่ยวจีนเองระมัดระวังการใช้เงินมากขึ้น

เงินเฟ้อไทยยังโอเค-แบงก์ชาติยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายปีนี้

กอบสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ตัวเลขเงินเฟ้อของประเทศไทยอยู่ที่ 1.33% ถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับดัชนีเงินเฟ้อโลก (World CPI) ที่ 3.1% หรือเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ระดับเงินเฟ้อก็ยังอยู่ที่ 2.1% ทำให้ยังมีเงินเข้ามาในตลาดตราสารหนี้อยู่ แต่เข้าไปที่ตลาดหุ้นน้อยลง ซึ่งในตอนนี้ค่าเงินบาทยังถือได้ว่ายังแข็งอยู่ ทำให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสในภาคการส่งออกเมื่อคำนวณกลับมาในรูปเงินบาท ราว 7.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องดูจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งอาจจะยังไม่ปรับขึ้นช่วงนี้เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินได้ โดยคาดว่าจะปรับขึ้นในช่วงต้นปีหน้า

ทั้งนี้เชื่อว่าปีหน้าการลงทุนในภาคเอกชนจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น นักลงทุนต่างชาติยังมองว่าประเทศไทยเป็นแหล่งพักเงินที่ดี และมีความปลอดภัยของการนำเงินมาพักสูงในตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงมีเสถียรภาพ มีอัตราเงินเฟ้อน้อยมาก รวมถึงมีทุนสำรองระหว่างประเทศที่ในระดับสูง โดยมีสภาพคล่องสูงถึง 61% ของจีดีพี

เบื้องต้นคาดว่า เศรษฐกิจไทยจะยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยประเมินเศรษฐกิจไทยปี 61 จะขยายตัว 4.6% และปี 62 จะขยายตัว 4% ส่วนในภาคการส่งออกจะมีขยายตัว 8.8% ในปี 61 และจะขยายตัว 5% ในปี 62

จับตาการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐ มั่นใจเงินบาทไม่อ่อน่าเกิน 33 บาท

สิทธิธัช พุคยาภรณ์ ผู้ช่วยผู้บริหารงานขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทไทยในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีความผันผวนอยู่มาก จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ถ้าหากสหรัฐฯ ขึ้นได้ตามคาด ค่าเงินบาทจะอ่อน อยู่ที่ 32.5-32.8% และค่อย ๆ อ่อนค่าลงไป 33 โดยประมาณ โดยเชื่อว่าปัจจัยดอกเบี้ย เกิดจากช่องว่างระหว่างธนาคารกลางสหรัฐฯและธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อาจจะทำให้ไหลออกบ้าง แต่จะไม่อ่อนไปเยอะกว่า 33 บาทแน่นอน