รื้อภาษีสรรพสามิตรอบใหม่ ดึง NewS-Curve ลงทุนอีอีซี

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต(แฟ้มภาพ)

อธิบดีกรมสรรพสามิต “พชร” ลุยเต็มสูบ ตั้งทีมรื้อโครงสร้างภาษีสรรพสามิตหนุน New S-curve กระตุ้นนักลงทุนไทย-ต่างชาติเร่งลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC เผยใช้ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ EV เป็นโมเดลต้นแบบ ขยายวงให้ครอบคลุมอีก 9 อุตสาหกรรมที่รัฐมีนโยบายส่งเสริม อิงหลักดูแลสิ่งแวดล้อม-คุณภาพชีวิต-ความปลอดภัย ลั่น 3 เดือนต้องแล้วเสร็จทั้งแพ็กเกจ

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากตนเข้ามารับตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพสามิต เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้ได้มอบนโยบายให้สำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต ไปศึกษาปรับปรุงโครงสร้างจัดเก็บภาษีสรรพสามิตให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของประเทศ (New S-curve) ที่ได้กำหนดไว้ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ถือเป็นการเข้าไปสนับสนุนยุทธศาสตร์ประเทศ โดยเฉพาะการผลักดันให้เกิดการลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ทั้งนี้ ในจำนวน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลส่งเสริม ซึ่งประกอบด้วย 1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4) อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร 6) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 7) อุตสาหกรรมการบิน 8) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 9) อุตสาหกรรมดิจิทัล และ 10) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร กรมสรรพสามิตมีแผนจะนำโครงสร้างภาษีสรรพสามิตมาใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุน เพื่อดึงดูดใจนักลงทุนให้เข้าลงทุนใน EEC นอกเหนือจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และการลดหย่อนภาษีของกรมสรรพากร

“เรื่องนี้กำลังให้เจ้าหน้าที่ไปศึกษาในภาพรวมว่าจะใช้กลไกภาษีสรรพสามิตผลักดันให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมเหล่านี้เร็วขึ้นได้อย่างไร โดยให้มีความสอดคล้องกับการส่งเสริมการลงทุนของ BOI และมาตรการทางภาษีของกรมสรรพากร รวมถึงกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯที่พยายามสนับสนุน New S-curve กำหนดว่าต้องมีความชัดเจนภายใน 3 เดือน ต้องเร็ว เพราะตอนนี้ก็ช้าแล้ว เนื่องจากนโยบาย New S-curve เดินหน้าไปแล้ว”

แนวคิดคือจะออกมาตรการทางภาษีลักษณะเหมือนกับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่พอมีภาษีสรรพสามิตมาช่วยกระตุ้น จะทำให้กลไก กระบวนการลงทุนเร็วขึ้น เพราะผู้ผลิตที่ต้องการได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจะเร่งลงทุนในช่วงที่รัฐมีมาตรการสนับสนุน เช่น หากมีการผลิตโดยใช้วัตถุดิบในประเทศแล้วนำเข้าเฉพาะที่เป็น know how จากต่างประเทศ อาจได้สิทธิประโยชน์พิเศษที่แตกต่างไปจากการนำเข้าส่วนประกอบทั้งหมด เป็นต้น

เพิ่มพิกัดภาษีใหม่หากจำเป็น

ส่วนจะต้องมีพิกัดภาษีใหม่ขึ้นมารองรับหรือไม่นั้น นายพชรกล่าวว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะระบุ คงต้องรอผลศึกษาออกมาก่อน แต่พิกัดเหล่านี้มีอยู่เป็นสากลอยู่แล้ว เพียงแต่บางพิกัดประเทศไทยยังไม่มีเท่านั้นเอง ซึ่งหากจำเป็นก็ต้องเปิดพิกัดภาษีขึ้นมาใหม่ โดยออกพระราชกฤษฎีกากำหนดพิกัดเพิ่มเติมขึ้นมา

“วันนี้เรายังมีแต่ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ EV ที่อยู่ในโครงสร้าง แต่ยังเหลืออีกตั้ง 9 เซ็กเตอร์ที่ยังไม่มี แถมในกลุ่มภาษีรถยนต์ EV เองยังมีเรื่องแบตเตอรี่อีก ดังนั้นจึงต้องให้เจ้าหน้าที่ไปศึกษาดูก่อน ตอบตอนนี้อาจจะเร็วไป แต่แนวทางนี้จะเป็นการกระตุ้นให้นักลงทุนมีการลงทุนในแนวทางที่ประเทศอยากได้ เพราะ BOI เป็นด่านแรกที่ดึงนักลงทุนเข้ามาก็จริง แต่พอเอาเข้ามาแล้ว เราจะส่งเสริมทางไหนที่จะทำได้เร็วขึ้น ซึ่งในหลาย ๆ ประเทศภาษีสรรพสามิตก็จะเป็นกลไกของรัฐในการส่งเสริมสนับสนุนกระตุ้นให้เกิดการลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง” นายพชรกล่าว

บาลานซ์พอร์ต-ลดพึ่งภาษีบาป

นายพชรกล่าวว่า จากที่กรมสรรพสามิตได้จัดกลุ่มภาษีเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ 1.ภาษีบาป ได้แก่ ภาษีสุรา ภาษียาสูบ ภาษีเบียร์ เป็นต้น 2.ภาษีพลังงาน ได้แก่ ภาษีน้ำมัน ภาษีน้ำมันเครื่อง เป็นต้น และ 3.ภาษีสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากการจัดกลุ่มดังกล่าวทำให้รู้แนวโน้มทิศทางการจัดเก็บภาษีในอนาคต โดยปัจจุบันมีสัดส่วนการจัดเก็บภาษีบาปมากกว่ากลุ่มอื่น แต่คงต้องปรับเปลี่ยนให้มีสัดส่วนลดลง เนื่องจากสินค้าในหมวดนี้เป็นสิ่งที่ทำลายสุขภาพ และในทางอ้อมก่อให้เกิดภาระงบประมาณในการดูแลสุขภาพประชาชน

“การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอนาคต สัดส่วนจะต้องสมดุลกัน ไม่ใช่ไปฝากความหวังไว้กับภาษีบาปอย่างเดียว จากที่เราทำตัวเลขย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2552 จะพบว่า มีภาษีบาปอยู่ถึง 45% ภาษีพลังงาน 31% และภาษีสิ่งแวดล้อม 18% แต่ถ้ามาดูในปี 2561 ภาษีบาปลดลงเหลือที่ 34.6% ภาษีพลังงานเพิ่มเป็น 38.7% และภาษีสิ่งแวดล้อมเพิ่มเป็น 22% ซึ่งความคิดผมก็มองว่า ภาษีบาปควรจะลดลง”

เล็งภาษีรถยนต์-จยย.อิงความปลอดภัย

นายพชรกล่าวด้วยว่า ในส่วนของภาษีรถยนต์ ปัจจุบันเป็นการส่งเสริมรถยนต์ไฮบริด และจะนำไปสู่รถไฟฟ้าต่อไป โดยปัจจุบันเป็นการเก็บภาษีจากปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ซึ่งในอนาคตอาจจะปรับไปสู่การให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัยมากขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น รถที่มีระบบความปลอดภัย เช่น ติดถุงลมนิรภัย ระบบเบรก ยางที่ได้มาตรฐาน จะเสียภาษีในอัตราต่ำกว่ารถที่ไม่มีระบบดังกล่าว หรือมีแต่มาตรฐานต่ำกว่า เป็นต้น ซึ่งได้มีการหารือกับทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ในเรื่องนี้เบื้องต้นแล้ว

ทั้งนี้ นอกจากรถยนต์แล้ว อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวว่า ในกรณีรถจักรยานยนต์ก็จะใช้แนวทางเดียวกันนี้ได้ด้วย ทั้งเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย เช่นเดียวกับรถยนต์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาโครงสร้างภาษี โดยนำหลักความปลอดภัยเข้ามาพิจารณาเป็นองค์ประกอบ

“เรื่องนี้ถ้าทำจะทำในภาพใหญ่ จะถือเป็นการปฏิรูปเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้คนไทยดีขึ้น จะไม่ทยอยออกมาเป็นชิ้น ๆ แต่จะออกมาเป็นแพ็กเกจ”

รับสภาพเก็บภาษีปี”62 ส่อต่ำเป้า

อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2562 กรมสรรพสามิตได้รับเป้าหมายจัดเก็บรายได้ภาษีที่ 625,000 ล้านบาท ตามเอกสารงบประมาณ ซึ่งเป็นเป้าที่สูงและคงทำได้ยาก เนื่องจากสถานการณ์ต่าง ๆ ขณะนี้ทั้งราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงสงครามทางการค้าที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ มีผลทำให้สมมติฐานการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่เคยตั้งไว้เปลี่ยนแปลงไปมาก

“ภาษีสรรพสามิตเป็นภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย อย่างตอนนี้ยอดภาษีที่ตกเป็นพวกภาษีบาป ขณะที่ภาษีรถยนต์เก็บได้สูงขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์ราคาถูกอย่างพวกอีโคคาร์ นอกจากนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่ปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต จึงทำให้ยอดจัดเก็บไม่นิ่ง เพราะอย่างบางรายการยอดควรเข้าปีนี้ ก็กลายเป็นรับรู้รายได้ไปตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่หลังจากปี 2562 ไปก็น่าจะนิ่งแล้ว”

ยึดหลักดูแล “สวล.-คุณภาพชีวิต”

ด้านแหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิตเปิดเผยเพิ่มเติมกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กรมกำลังศึกษารายละเอียดทั้ง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายอยู่ว่าจะนำโครงสร้างภาษีสรรพสามิตเข้ามาจับได้อย่างไรบ้าง เช่น รถยนต์ EV ที่ปัจจุบันอยู่ในโครงสร้างภาษีแล้ว หรืออุตสาหกรรมอาหาร ปัจจุบันก็มีหมวดความหวานที่จัดเก็บอยู่แล้ว หรืออุตสาหกรรมชีวภาพก็อาจจะนำหลักการด้านสิ่งแวดล้อม หรือคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนเข้ามาจับ เป็นต้น

“กรมกำลังศึกษาทั้งหมดอยู่ ดูว่าจะส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศได้อย่างไรบ้าง บางอุตสาหกรรมก็อาจจะมีการจัดเก็บภาษีอยู่แล้ว ก็ต้องดูว่ามีหลักการไหนที่อาจจะนำมาจับเพิ่มเติม หรือหากอุตสาหกรรมไหนยังไม่มีโครงสร้างอัตรา ก็อาจจะเพิ่มเติมเข้ามาใหม่” แหล่งข่าวกล่าว