บสย.เล็งค้ำประกัน’ร้านธงฟ้า-กลุ่มธุรกิจชายแดน’ ดันยอดปีหน้าแตะ 1 แสนล้าน

นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย. ตั้งเป้าหมายการค้ำประกันสินเชื่อในปี 2562 ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท โดยจะขยายกลุ่มค้ำประกันเพิ่มขึ้น เช่น สหกรณ์การเกษตร,ลิสซิ่ง,ร้านค้าที่รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ,กลุ่มเอสเอ็มอีรายย่อย,ธุรกิจท่องเที่ยวในเมืองรอง และรวมถึงกลุ่มพ่อค้าตามชายแดน โดยในส่วนของกลุ่มสหกรณ์การเกษตรมีจำนวน 4 พันแห่ง ปัจจุบันธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อให้สหกรณ์วงเงินสินเชื่อคงค้างประมาณ4 หมื่นล้านบาท หาก บสย.ไปช่วยค้ำประกันสิน น่าจะช่วยให้สหกรณ์กู้เงินเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท จะทำให้สหกรณ์รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรมากขึ้นช่วยลดปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ล้นตลาดได้

นายวิเชษฐกล่าวต่อว่า กลุ่มธุรกิจชายแดนเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ บสย.สนใจที่จะเข้าไปค้ำประกันสินเชื่อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจซื้อมาขายไปและเป็นเอสเอ็มอีรายย่อย สถาบันการเงินไม่อยากปล่อยสินเชื่อให้ เนื่องจากเอกสารทางการเงินไม่ชัดเจน ดังนั้นบสย.จะเข้าไปช่วยสนับสนุนสถาบันการเงิน เพื่อให้สามารถกู้เงินได้

นายวิเชษฐกล่าวต่อว่า ส่วนการค้ำประกันลิสซิ่งบสย.ตั้งวงเงินค้ำประกันไว้ 1 พันล้านบาท ปัจจุบันมีสถาบันการเงินที่เข้าร่วมเพียง 2 -3แห่ง ถือว่ายังไม่มาก เพราะไม่ได้รับการอุดหนุนค่าธรรมเนียมค้ำประกันจากรัฐ ทั้งนี้การค้ำประกันลิสซิ่งจะทำให้เอสเอ็มอีสามารถขยายธุรกิจได้เพิ่มขึ้น เช่นเอสเอ็มอีบางรายต้องการซื้อรถตัก หรือรถยนต์เชิงพาณิชย์ เนื่องจากธุรกิจขยายตัว หากใช้เครดิตของตัวเองอาจกู้ได้ 1 คัน แต่ถ้าบสย.ค้ำประกันสามารถกู้ได้ 3 คัน ทำให้ขยายธุรกิจได้ตามเป้าหมาย

นายวิเชษฐกล่าวว่า ยอดค้ำประกันของ บสย.ปีนี้คาดว่าจะได้ 9.5 หมื่นล้านบาท แต่จะต้องดูในช่วงสองเดือนที่เหลือของปีนี้ว่ายอดค้ำประกันจะพุ่งสูงขึ้นอีกหรือไม่ ซึ่ง บสย.ก็ยังคาดหวังว่าภายในปีนี้ ยอดค้ำอาจจะแตะที่ระดับแสนล้านบาทได้ โดยเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา ยอดค้ำประกันรวมของ บสย.อยู่ที่ 8.5 หมื่นล้านบาทในส่วนโครงการค้ำประกันสินเชื่อระยะที่ 7(PGS 7) วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ปัจจุบันค้ำประกันไปแล้ว 1 หมื่นล้านบาท คาดว่าจนถึงสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท