บาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าปลายสัปดาห์ หลังจากดอลลาร์แข็งค่าขึ้น

ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างวันที่ 3-7 กรกฎาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าในวันจันทร์ (3/7) ที่ระดับ 33.97/96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (30/6) ที่ระดับ 33.96/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แต่อย่างไรก็ตาม ในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา (30/6) สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจของสหรัฐ รายงานว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนพฤษภาคม หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ทั้งในเดือน มี.ค.และเดือน เม.ย. ขณะที่รายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนพฤษภาคม ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้และดีกว่าเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 0.3% นอกจากนี้ ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 57.8 ในเดือนมิถุนายน จากระดับ 54.9 ในเดือนพฤษภาคม และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 55.1 นอกจากนี้ดัชนียังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ภาวะขยายตัวของภาคการผลิต และเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 97 ติดต่อกัน ในขณะเดียวกัน บริษัทไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) สำหรับภาคการผลิตของสหรัฐ ยังคงออกมาสูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคการผลิต โดยอยู่ที่ 52.0 ในเดือนมิถุนายน ถึงแม้ว่าจะลดลงจากระดับ 52.7 ในเดือนพฤษภาคมก็ตาม ประกอบกับธนาคารกลางสหรัฐ ได้เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 13-14 มิถุนายน โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่เฟดมีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับช่วงเวลาที่เฟดจะเริ่มดำเนินการปรับลดงบดุลบัญชีของเฟด ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ โดยรายงานการประชุมระบุว่า กรรมการเฟดหลายคนเห็นควรให้ประกาศวันเริ่มดำเนินการปรับลดงบดุลบัญชีภายใน 2 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะช่วยให้ตลาดสามารถเตรียมการสำหรับการดำเนินการดังกล่าวของเฟด นอกจากนี้ รายงานการประชุมยังระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่เฟดหลายคนได้สนับสนุนให้ธนาคารกลางเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็มีกรรมการเฟดบางคนมีความเห็นที่แตกต่างออกไป เกี่ยวกับความถี่ในการปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้ตลอดสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบ ๆ ระหว่าง 33.96-34.10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (7/7) ที่ระดับ 34.08/10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในส่วนของค่าเงินบาท คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการจัดประชุมครั้งที่ 4/2560 ในบ่ายวันนี้และมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปีเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป โดยนายจตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มาขยายตัวชัดเจนต่อเนื่องจากการส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้น ในขณะที่อุปสงค์ในประเทศขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และไม่กระจายตัวเท่าที่ควร ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงและอาจต่ำกว่ากรอบเป้าหมายในบางช่วง จากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก แต่มีทิศทางปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี มองไปข้างหน้าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะจากปัจจัยด้านต่างประเทศ ในขณะที่การขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศอาจยังไม่กระจายตัวเท่าที่ควร คณะกรรมการ จึงเห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ นอกจากนี้ที่ประชุมมองว่าตลาดการเงินโลกยังมีแนวโน้มผันผวนจากหลายปัจจัย แม้ว่าล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐจะยังคงมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและมีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ พร้อม ๆ กับการเริ่มกระบวนการปรับลดงบดุลลงก่อนสิ้นปี

ด้านการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรโซนสัปดาห์นี้ เปิดตลาดในวันจันทร์ (3/7) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1414/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (30/6) ที่ระดับ 1.1409/10 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (30/6) สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป เปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.3% ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 1.4% แต่ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.2% นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกในยูโรโซนปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบรายเดือน และปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบรายปี ในขณะที่ผลสำรวจของไอเอชเอส มาร์กิตระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการการของยูโรโซนปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 55.4 ในเดือนมิถุนายน จากระดับ 56.3 ในเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้รัฐบาลอิตาลีได้เข้าควบคุมการดำเนินงานของธนาคาร (Banca Monte dei Paschi di Siena (BMPS) ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ ผ่านการอัดฉีดเงินช่วยเหลือมูลค่า 5.4 พันล้านยูโร ให้กับทางธนาคาร โดยนายปิแอร์ คาร์โล ปาโดอัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอิตาลี กล่าวว่า แผนการปรับโครงสร้างธนาคาร Banca Monte dei Paschi di Siena จะช่วยสร้างอนาคตที่น่าเชื่อถือสำหรับธนาคาร และสร้างเสถียรภาพต่อระบบธนาคารในประเทศ โดยทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินยูโรได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีการเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.1325-1.1422 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (7/7) ที่ระดับ 1.1410/12 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนนั้น เปิดตลาดในวันจันทร์ (3/7) เปิดตลาดที่ระดับ 111.27/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (30/6) ที่ระดับ 111.96/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น (ทังกัน) ประจำไตรมาส 2/2560 โดยระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ ซึ่งรวมถึงบริษัทผลิตรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์นั้น อยู่ที่ระดับ +17 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/2560 ซึ่งอยู่ที่ระดับ +12 และดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ +15 นอกจากนี้ ปัญหาด้านการเมืองภายในประเทศญี่ปุ่นหลังจากที่พรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ พ่ายแพ้ครั้งใหญ่ในการเลือกตั้งในกรุงโตเกียว ทำให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรีอาเบะกำลังเผชิญปัญหาเรื่องความมั่นคง ขณะที่คะแนนนิยมในตัวเขากำลังดิ่งลง โดยพรรคแอลดีพีครองที่นั่งได้เพียง 23 ที่นั่งจากทั้งหมด 127 ที่นั่งในการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงโตเกียว ซึ่งถือว่าเป็นคะแนนที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์สำหรับพรรคแอลดีพี ส่งผลให้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 112.05-113.81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดในวันศุกร์ (7/7) ที่ระดับ 113.70/72 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat