ค่าเงินบาทอ่อนค่า หลังข้อมูลการส่งออกของไทยหดตัว

ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/10) ที่ 32.60/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/10) ที่ 32.59/61 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ (19/10) ว่า ยอดขายบ้านมือสองในเดือนกันยายน ปรับตัวลดลง 3.4% จากเดือนสิงหาคม แตะระดับ 5.15 ล้านยูนิต และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าแล้ว ยอดขายบ้านมือสองลดลง 4.1% โดยสาเหตุของการปรับตัวลดลงของยอดขายบ้านมือสองทั่วสหรัฐนั้น มาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย รวมถึงราคาบ้านที่สูงขึ้น โดยราคาเฉลี่ยของบ้านเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 258,100 ดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนกันยายน คิดเป็น 4.2%  เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นอกจากนี้แล้วประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตาได้แสดงความเห็นว่า สหรัฐจะสามารถขยายตัวได้จากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ใกล้ระดับเป้าหมาย และอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับที่ต่ำมาก อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ระหว่างสหรัฐ กับประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งหากสถานการณ์เลวร้ายลงจนมีการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตร อาจทำให้ราคาน้ำมันได้รับผลกระทบ

ในขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยข้อมูลการส่งออกเดือนกันยายนหดตัว 5.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งผิดจากที่ตลาดคาดไว้ และเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 19 เดือน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เป็นคู่ค้าของไทยที่เริ่มมีปัญหา โดยการส่งออกไปจีนลดลง 14.1% ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 9.9% ส่งผลให้ไทยมียอดเกินดุลการค้า 0.49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกไทยปี 2562 จะเผชิญความท้าทายทั้งเงินบาทแข็งค่า ราคาน้ำมัน และสงครามการค้า โดยตั้งเป้าหมายการเติบโตที่ 8% ใกล้เคียงกับปีนี้ที่คาดว่ามูลค่าส่งออกจะขยายตัวได้ 9% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.61-32.76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (22/10) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1500/04 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/10) ที่ 1.1459/63 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แม้ว่านักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งเรื่องงบประมาณระหว่างอิตาลีกับสหภาพยุโรป (EU) หลังมีรายงานว่า สหภาพยุโรปอาจปฏิเสธข้อเสนองบประมาณฉบับใหม่ของรัฐบาลอิตาลี โดยสื่อของเยอรมนีรายงานว่า สหภาพยุโรปได้ปฏิเสธแผนการใช้จ่ายของรัฐบาลอิตาลี และกำลังส่งจดหมายแจ้งผลการพิจารณางบประมาณของอิตาลีไปยังกรุงโรม อย่างไรก็ตาม ทางด้านหัวหน้าคณะกรรมาธิการงบประมาณของอียู กล่าวว่า รายงานของสื่อมีความคลาดเคลื่อน แต่เขายอมรับว่า ในความเห็นของเขามีความเป็นไปได้สูงมาก ที่อียูจะขอให้อิตาลีแก้ไขร่างงบประมาณที่ต้องการเพิ่มตัวเลขขาดดุลงบประมาณสู่ระดับ 2.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1502-1.1546 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1511/13 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้ (22/10) เปิดตลาดที่ระดับ 112.43/46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/10) ที่ 112.35/38 เยน ดอลลาร์สหรัฐหลังจากนักลงทุนเริ่มคลายความวิตกกังวลในประเด็นเรื่องการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ หลังมีรายงานออกมาว่าการเจรจาเริ่มมีความคืบหน้า ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 112.53-112.85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 112.84/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมครั้งแรกของยุโรป (24/10) ปริมาราณการสต๊อกน้ำมันดิบ (24/10) แถลงการณ์ประธานเฟด สาขาแอตแลนตา (25/10) แถลงการณ์ประธานเฟด สาขาคลิฟแลนด์ (25/10) อัตราการว่างงานของสเปน (25/10) การประชุมธนาคารกลางยุโรป (25/10) ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ (25/10) แถลงการณ์กรรมการของ FOMC นายริชาร์ด คลาริด้า (25/10) ผลิตภัณฑ์มวลรวมประจำไตรมาส 3 ของสหรัฐ (26/10) แถลงการณ์ประธานธนาคารกลางยุโรป (26/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.1/2.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.17-1.57 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

 

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
อย่าลืมกดติดตาม และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”