กบข. ตั้งพอร์ตลงทุน ESG-Focused Portfolio (หุ้นกิจการที่ให้ความสำคัญปัจจัย ESG) หวังเป็นผู้นำ-หาแนวร่วมลงทุน

นายวิทัย รัตนากร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่าในเดือนตุลาคมนี้ กบข. ได้จัดตั้ง ESG – Focused Portfolio มูลค่า 1,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในหุ้นของ 33 กิจการที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกด้าน ESG ของ กบข. มุ่งหวังนักลงทุนสถาบันในประเทศยึดหลักการลงทุนอย่างรับผิดชอบ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศเกิดการพัฒนาในทุกมิติอย่างยั่งยืน

นายวิทัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจการที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกด้าน ESG ของ กบข. จะต้องเป็นกิจการที่อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์ (THSI) มีรายชื่ออยู่ใน SET 100 และผ่านเกณฑ์ประเมินมาตรฐาน ESG ของ กบข. ประกอบด้วย เกณฑ์เจตนารมณ์พื้นฐาน เกณฑ์การประกอบธุรกิจ เกณฑ์ความโปร่งใส และ เกณฑ์การกำกับดูแลที่ดี ซึ่ง กบข. ให้ความสำคัญกับกิจการที่สมัครร่วมโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Thailand’s Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption: CAC)

ทั้งนี้ นายวิทัย มองว่า การจัดตั้งพอร์ตดังกล่าว เป็นการลงทุนอย่างรับผิดชอบ ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงด้านการเงินและการเสียชื่อเสียง พร้อมส่งเสริมสังคมให้ดำรงอยู่และเติบโตอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นอีกหนึ่งในแผนงานสำคัญ ที่จะทำให้ กบข. บรรลุเป้าหมายการเป็นผู้นำและริเริ่มการลงทุนที่ส่งเสริม ESG พร้อมเชิญชวนให้นักลงทุนสถาบันให้ความสำคัญกับการลงทุนในกิจการที่มี ESG เช่นเดียวกัน

ในช่วงที่ผ่านมา กบข. ได้จัดทำนโยบายการกำกับดูแลกิจการ ประกาศรับการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลการลงทุน (I Code) และแถลงความร่วมมือในการส่งเสริมการลงทุนในหุ้นยั่งยืนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และในปีนี้ กบข. จะจัดสัมมนาร่วมกับ World Bank, OECD และ PRI ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 หัวข้อ ESG Investing: Return Enhancing or Sacrificing? How to make it work? เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสำคัญด้านการลงทุนอย่างยั่งยืน และจะร่วมมือกับ OECD จัดทำ ESG – Integrated Due Diligence Guideline สำหรับสินทรัพย์ที่ กบข. ลงทุนอยู่ในปัจจุบันและอนาคต ส่วนในปี 2562 กบข. จะพิจารณาเพิ่มมูลค่าการลงทุนใน ESG Focused Portfolio


เกี่ยวกับ กบข. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 เพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำเหน็จบำนาญและให้ประโยชน์ตอบแทนการรับราชการแก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการ ส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก และจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่สมาชิก กบข. มีสถานะเป็นองค์กรของรัฐจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะไม่มีสถานะเป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มีคณะกรรมการ กบข. เป็นผู้กำหนดนโยบาย ปัจจุบัน กบข. มีสมาชิกประมาณ 1 ล้านคน มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิประมาณ 891,235 ล้านบาท (ข้อมูล ณ 30 ก.ย. 2561)