เกษตรกรเริ่มพักหนี้3.5แสนล. ธ.ก.ส.ชี้ลอตแรก1.2ล้านราย-ชูNPLต่ำ 4%

ธ.ก.ส.เผยเกษตรกรแจ้งขอพักหนี้ 3.32 ล้านราย มูลหนี้ 9.9 แสนล้านบาท เริ่มพักหนี้แล้ว 1.2 ล้านราย มูลหนี้ 3.5 แสนล้านบาท หรือราว 38% ของเกษตรกรที่มีสิทธิ์ทั้งหมด พร้อมชี้แจงธปท. ยันมาตรการไม่กระทบวินัยการเงินลูกหนี้ เหตุมีหนุนฟื้นฟูอาชีพพ่วง มั่นใจกดเอ็นพีแอลต่ำกว่า 4%

นายศรายุทธ ยิ้มยวน รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบมาตรการลดภาระหนี้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้เกษตรกรรายย่อย (พักชำระหนี้) เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2561 โดยเกษตรกรที่เข้าข่ายมีจำนวน 3.81 ล้านราย ซึ่งธนาคารได้ลงพื้นที่และให้ลูกหนี้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการ ล่าสุดมีเกษตรกรที่ผ่านคุณสมบัติจำนวน 3.32 ล้านราย คิดเป็นยอดหนี้รวม 990,000 ล้านบาท

“ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์พักชำระหนี้ไปแล้วจำนวน 1.2 ล้านราย มูลหนี้ที่พักชำระ 350,000 ล้านบาท คิดเป็น 38% ของจำนวนเกษตรกรที่มีสิทธิ์เข้าร่วม” นายศรายุทธกล่าว

ส่วนกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความกังวลว่ามาตรการดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดวินัยทางการเงินของลูกหนี้ และอาจจะทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้นั้น ธ.ก.ส.ได้อธิบายกับ ธปท.แล้วว่า มาตรการนี้จะไม่กระทบวินัยทางการเงินของลูกหนี้ เนื่องจากมาตรการที่ออกมาไม่ใช่การพักหนี้เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องแผนพัฒนาและฟื้นฟูการประกอบอาชีพเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปี ที่มีการพักชำระหนี้ต้นเงินกู้

นอกจากนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการนี้ยังต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เหมือนเดิม เพียงแต่ ธ.ก.ส.มีการลดดอกเบี้ยให้ 3% ต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อลดต้นทุนในการประกอบอาชีพ ให้เกษตรกรสามารถฟื้นฟูตนเองได้

ด้านแผนพัฒนาและฟื้นฟูการประกอบอาชีพ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ธ.ค. 61 โดยเป็นความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการช่วยเหลือเกษตรกรในกรณีพื้นที่เพาะปลูกไม่เหมาะสม ซึ่งสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มทำการผลิตในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ เป็นอาชีพเสริมตามนโยบายตลาดนำการผลิตให้เกษตรกรมีช่องทางการผลิตและจำหน่าย

“แนวทางนี้จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งเราก็มีการดูแลอย่างใกล้ชิด ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบลอยู่แล้ว เชื่อว่ามาตรการนี้จะลด NPL (หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้) ได้”

นายศรายุทธกล่าวว่า ในกรณีมีลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้จากมาตรการดังกล่าว จะต้องพิจารณาถึงปัจจัยของการผิดนัดดังกล่าวด้วยว่า หากเป็นปัจจัยภายนอก เช่น น้ำท่วม ฝนไม่ตกตามฤดูกาล เศรษฐกิจไม่ดี ทางธนาคารก็จะมีการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เพิ่มให้ แต่ถ้าเกิดการผิดนัดชำระหนี้จากปัจจัยภายใน เช่น การจงใจเบี้ยวหนี้ ธนาคารก็จะดำเนินการอย่างเด็ดขาด ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายบุคคล

นอกจากนี้ นายศรายุทธกล่าวยืนยันว่า มาตรการพักหนี้จะไม่กระทบต่อผลดำเนินงานของ ธ.ก.ส. เนื่องจากมีการกันสำรองหนี้ไว้เพียงพอ รวมถึงมีระบบบริหารจัดการความเสี่ยงและสภาพคล่องได้ดีและไม่เคยมีปัญหา โดยปัจจุบันมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) อยู่ที่ 12.12% สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ ธปท.กำหนด ส่วนเอ็นพีแอลปัจจุบันอยู่ที่ 4% คาดว่าภายในสิ้นปีบัญชี 2561 นี้จะลดระดับเหลือต่ำกว่า 4% ได้