กรุงศรีฟุ้งสินเชื่อ SME ปีนี้โตเกินเป้า คาดคุม NPL ทั้งปีไม่เกิน 4% พร้อมเปิดตัว Krungsri SME Empowerment

กรุงศรีฟุ้งสินเชื่อ SME ปีนี้โตเกินเป้า ชี้แตะ 13% แล้วจากคาดไว้ 8% เผยคาดคุม NPL ทั้งปีไม่เกิน 4% พร้อมเปิดตัว Krungsri SME Empowerment หนุนผู้ประกอบการ SME เผยผลดัชนีความเชื่อมั่น SME ปรับตัวดีขึ้น

นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยถึงผลประกอบการธนาคารของกลุ่มลูกค้าธุรกิจ SME ในช่วง 9 เดือนแรกว่า สินเชื่อ SME ขนาดกลางและขนาดเล็กของธนาคารเติบโตถึง 13% หรือยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 194,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะเติบโตทั้งปีอยู่ที่ 8% โดยปัจจัยหลักของการขับเคลื่อนการเติบโตมาจากสินเชื่อ Trade Finance และสินเชื่อ Supply Chain ที่มีการเติบโตอยู่ที่ 11% และ 18% ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังได้แรงหนุนจาก Cash Fee และ Average LC CASA ที่เติบโต 19% และ 20% ตามลำดับ

“สำหรับประเด็นสงครามการค้า อาจจะกระทบการส่งออกซึ่งอาจส่งผลกับสินเชื่อ Trade Finance บ้าง แต่เชื่อว่าอุตสาหกรรมที่จะเติบโตได้คือ อสังหาริมทัพย์ การค้าปลีก-ส่ง การผลิต และการบริการ” นายสยามกล่าว

ทั้งนี้ สินเชื่อขนาดเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มียอดขาย 20-150 ล้านบาทต่อปี มีการเติบโตของสินเชื่อที่ 9% หรือยอดสินเชื่อคงค้าง 77,000 ล้านบาท และสินเชื่อขนาดกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มียอดขาย 150-1,000 ล้านบาทต่อปี มีการเติบโตของสินเชื่อที่ 16% หรือยอดสินเชื่อคงค้าง 116,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันฐานลูกค้าสินเชื่อ SME ของธนาคารอยู่ที่ 18,000 ราย โดยแบ่งเป็น SME ขนาดกลาง 5,000 ราย และ SME ขนาดเล็ก 13,000 ราย

โดยในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อ SME ขนาดกลางและขนาดเล็ก ณ สิ้น ก.ย.61 อยู่ที่ 4% ซึ่งต่ำกว่าตลาดตามข้อมูลจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่พบว่าไตรมาส 2/61 NPL อยู่ที่ 4.45% อย่างไรก็ตาม ธนาคารจะควบคุม NPL ทั้งปีนี้ให้อยู่ในระดับไม่เกิน 4%

นอกจากนี้ ล่าสุด ธนาคารได้เปิดตัวกลุ่มบริการ Krungsri SME Empowerment ซึ่งเป็นบริการเพื่อต่อยอดธุรกิจผ่านการผสานพลังศักยภาพระหว่างกรุงศรีและ MUFG โดยในปีที่ผ่านมา กรุงศรีได้จัดงานสัมมนาเพื่อให้ความรู้กับลูกค้า SME ในการขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีการเติบโตสูง ความรู้การทำธุรกิจในยุคดิจิทัล กิจกรรมศึกษาดูงานธุรกิจที่ประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจด้วยบริการ SME Online Business Matching เพื่อขยายช่องทางการจำหน่ายให้กับลูกค้า SME ผ่านแพลตฟอร์มเว็บไซต์ของธนาคารและความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจของกรุงศรีทั้งในและต่างประเทศ และกิจกรรม Krungsri-MUFG Business Matching Fair ที่จัดขึ้นทุกปี เพื่อสร้างเครือข่ายและจับคู่ธุรกิจไทยกับคู่ค้าต่างประเทศซึ่งเป็นลูกค้าของ MUFG”


“นอกเหนือจากการให้ความรู้ผ่านกิจกรรมสัมมนาแล้ว กรุงศรีได้มีการจัดทำข้อมูลและความรู้ต่างๆ เพื่อ SME ในการนำไปวางแผน เสริมศักยภาพผ่านช่องทางอื่นๆ ให้แก่ลูกค้าธุรกิจของธนาคารมาโดยตลอด ซึ่งหนึ่งในข้อมูลดังกล่าว คือผลสำรวจความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ SME ทุกๆ ไตรมาส ที่ธนาคารได้จัดทำขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยผลการสำรวจผู้ประกอบการ SME กว่าทั่วประเทศล่าสุดในไตรมาส 3 Krungsri SME Index โดยรวมปรับสูงขึ้นจากไตรมาสที่แล้วมาอยู่ที่ 3.82 จากการได้รับปัจจัยหนุนจากภาคการส่งออกของไทยที่ขยายตัวดีต่อเนื่องและความคืบหน้าของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สะท้อนจากภาคการผลิตที่มีมุมมองสดใส และมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของผู้ประกอบการในเขตจังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา อย่างไรก็ตามพบว่า SME ขนาดกลาง มีความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจมากกว่า SME ขนาดเล็ก สำหรับแนวโน้มในไตรมาส 4 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME อยู่ในแดนบวกที่ 27.26 โดยผู้ประกอบการ SME ทุกกลุ่มมองแนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาส 4 จะยังมีการเติบโตดีต่อเนื่อง สะท้อนภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มกระจายตัวเพิ่มมากขึ้น” นายสยามกล่าว