สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดปี’62 GDP โต 4.5% แนะจับตา 3 ปัจจัยสำคัญปีหน้า

ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ประจำธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดปี62 จีดีพีโต 4.5% รัฐบาลหน้าสานต่อเมกะโปรเจ็กต์-แบงก์ชาติส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย-ท่องเที่ยวกระทบดุลบัญชีเดินสะพัด

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ประจำธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/61 รวมถึง 3 ปัจจัยที่ควรจับตาในปีหน้า ได้แก่ การเลือกตั้งปีทั่วไป แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และผลกระทบการท่องเที่ยวต่อปริมาณเงินเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เป็นผลให้ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่อัตรา 4.5% ในปี 2562 และยังคงประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้ที่ 4.3%

นายทิม ขยายความปัจจัยการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้าว่า การเปลี่ยนรัฐบาลน่าจะเป็นไปอย่างราบรื่น โดยมีการคาดกันว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปีหน้า ยิ่งขยับเข้าใกล้วันเลือกตั้ง ความเคลื่อนไหวทางการเมืองยิ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดว่าการเลือกตั้งจะผ่านพ้นไปด้วยดีและการเปลี่ยนรัฐบาลจะช่วยกระตุ้นบรรยากาศการค้าการลงทุน

“ไม่ว่าผลของการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร รัฐบาลใหม่น่าจะต้องดูแลความต่อเนื่องของนโยบายเชิงโครงสร้างต่อไปอีก 2-3 ปี โครงการโครงสร้างพื้นฐานเมกะโปรเจ็กต์ ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญ น่าจะยังคงดำเนินการตามแผนที่วางไว้ เนื่องจากภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ได้เปิดทางให้รัฐบาลสามารถผลักดันโครงการขนาดใหญ่ให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องได้ แม้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในภายหลัง ประเด็นนี้น่าจะช่วยกระตุ้นภาพรวมการเติบโตหลังจากที่การเติบโตสะดุดลงไปอันเนื่องจากวิกฤตทางการเมืองระหว่างปี 2548 – 2557 รวมถึงความล่าช้าของการดำเนินการโครงการที่ยืดเยื้อมานาน” นายทิม กล่าว

ส่วนผลพวงที่มาจากภาพรวมการเมืองที่ดีขึ้น ประกอบกับปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งของประเทศไทย คาดว่าจะส่งผลให้ประเทศไทยได้รับการปรับขึ้นอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศหลังจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามยังไม่เห็นปัจจัยกระตุ้นการเติบโตใหม่หลังการเลือกตั้ง

ด้าน ปัจจัยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ โดยคาดว่าจะเริ่มการปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% (มาอยู่ที่ระดับ 1.75%) ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 14 พ.ย.61 นี้ จากการส่งสัญญาณที่ชัดเจนในการประชุมเมื่อเดือนก.ย. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธปท.ยังมีความกังวลในเรื่องอัตราการแข็งค่าของเงินบาท จึงคาดว่าธปท.จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันในการประชุมเดือนพ.ย.และธ.ค. ทำให้ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดว่าธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนธ.ค. ส่วนดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี 2562 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.25% โดยสรุปแล้วธปท.จะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในพ.ย.61 อีกหนึ่งครั้งในครึ่งปีแรกของปีหน้า และอีกหนึ่งครั้งในครึ่งปีหลัง

ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในอัตราที่เร็วกว่าที่ตลาดคาด อาจส่งผลให้ธปท.ปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติเร็วขึ้น โดยธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับดอกเบี้ยขึ้น 5 ครั้งในปี 2561-2562 ในขณะที่ตลาดมองการปรับขึ้น 3 ครั้ง นอกจากนี้ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเชื่อว่าเงินเฟ้อในประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมันโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนด้วยปัจจัยการปรับตัวดีขึ้นของภาพรวมเศรษฐกิจมหภาค การนำเข้าที่เพิ่มมากขึ้นอันเนื่องมาจากเงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ น่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น

ด้านปัจจัยปริมาณเงินเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดว่าจะลดลง จากแรงกดดันด้านการท่องเที่ยวและการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดว่าปริมาณเงินเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจะลดลงมาอยู่ที่ 7.0% ของจีดีพีในปี 2562 เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ความเสี่ยงในภาคธุรกิจท่องเที่ยวโดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง และการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นในระยะกลางอันเนื่องมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุน (รวมถึงโครงการโครงสร้างพื้นฐาน) เชื้อเพลิงคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15% ของการนำเข้าทั้งหมดของไทย

แม้ว่าความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนจะมีความเสี่ยงต่อภาคส่งออก แต่ยังไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย โดยการส่งออกที่ชะลอตัวลงในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานเดิมที่อยู่ในระดับสูง

“แม้ว่ายังมีความไม่แน่นอน แต่เราไม่เห็นผลกระทบรุนแรงในปีหน้า อันที่จริง ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนอาจจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย เพราะผู้ซื้อจะมองหาสินค้ามาทดแทนสินค้าที่ได้รับผลกระทบทางภาษี หมายความหว่า ผลกระทบที่แท้จริง ส่วนหนึ่งจะขึ้นอยู่กับความสามารถที่แท้จริงของผู้ส่งออกไทยในการตอบสนองความต้องการการนำเข้าที่มากขึ้นทั้งจากสหรัฐอเมริกาและจีน” นายทิม กล่าวสรุป