ปี’62 ธปท.คง “กรอบเงินเฟ้อ” ยึดเป้าหมายเดิม 1-4% ชงครม.ไฟเขียว

“แบงก์ชาติ” ชงคลังคงกรอบเงินเฟ้อตามเดิมถึงปีหน้า คาดสิ้นปี”61 เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.2% มีทิศทางขาขึ้นตามราคาน้ำมัน แต่ไม่หวือหวาตามเศรษฐกิจโตเหมือนอดีต เหตุ “อีคอมเมิร์ซ-โลกาภิวัตน์” ทำให้หาสินค้าที่มีราคาทดแทนกันได้

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เข้าหารือเพื่อตกลงกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน (กรอบเงินเฟ้อ) กับทางกระทรวงการคลังแล้ว โดยยังคงกรอบเป้าหมายไว้ที่ 2.5% +/- 1.5% (1-4%) ต่อปี ทั้งในปี 2561 นี้และปี 2562 ซึ่งหลังจากนี้ทาง ธปท.จะต้องทำเรื่องกลับมาเสนออย่างเป็นทางการอีกครั้ง เพื่อให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลังลงนามเห็นชอบเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในช่วงปลายปีนี้

“ถึงสิ้นปีนี้ คาดว่าเงินเฟ้อจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ 1.2% จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเกิดจากฝั่งซัพพลายไม่ใช่ดีมานด์ ส่วนปีหน้าก็คาดว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มขาขึ้น แต่ไม่ได้เพิ่มสูงมาก เพราะปัจจุบันการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อไม่ได้เพิ่มขึ้นเร็ว ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจแบบเมื่อก่อน ซึ่งทาง ธปท.ก็มองว่า น่าจะเป็นผลมาจากปัจจุบันที่มีธุรกิจอีคอมเมิร์ซ กระแสโลกาภิวัตน์ที่ทำให้คนสามารถหาสินค้าที่มีราคาทดแทนกันได้ ซึ่งหลาย ๆ ประเทศก็เป็นภาวะเช่นนี้ อย่างกรณีสหรัฐก็เช่นกันที่เศรษฐกิจโตขึ้นแต่เงินเฟ้อไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม” แหล่งข่าวกล่าว

นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวในการรายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2561 ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ย. 2561 ขยายตัวที่ 1.3% ต่อปี ซึ่งมาจากราคาน้ำมันที่ขยับตัวสูงขึ้น แต่ไม่ได้มีปัจจัยที่น่ากังวลแต่อย่างใด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน ก.ย.อยู่ที่ 0.8% ส่วนในไตรมาส 3 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.1% และเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.7%

“สมมุติฐานด้านราคาน้ำมันดิบดูไบ สศค.ได้ปรับเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิม โดยมีผลกระทบมาจากวิกฤตในประเทศเวเนซุเอลา และการที่สหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรอิหร่าน ซึ่งคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ทั้งปีเฉลี่ยที่ 71.8 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากเดิมคาดที่ 70.1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคาดว่าจะทรงตัวที่ 1.50% ต่อปีไปจนถึงสิ้นปี 2561” นายวโรทัยกล่าว

ด้านแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ครม.ได้รับทราบรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประจำครึ่งปีแรกของปี 2561 โดย ธปท.รายงานว่า ช่วงครึ่งปีแรก กนง.มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% ต่อปี ในการประชุม 4 ครั้ง โดยในการตัดสินนโยบาย กนง.ได้คำนึงถึงผลบวกและผลลบของแต่ละทางเลือกนโยบาย (policy trade-offs) ทั้งในด้านระยะเวลาที่อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย การสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน และการดูแลความเปราะบางของระบบการเงินที่อาจสะสมภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง

นอกจากนี้ กนง.ยังเห็นว่า นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ยังมีความจำเป็นที่ช่วยสนับสนุนให้อุปสงค์ภายในประเทศขยายตัวได้เข้มแข็งต่อเนื่อง ซึ่งจะเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทยอยปรับสูงขึ้น และเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน สะท้อนจากต้นทุนการระดมทุนของภาคธุรกิจที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ แม้อัตราดอกเบี้ยโลกเริ่มมีทิศทางปรับสูงขึ้น และภาคธุรกิจยังสามารถระดมทุนผ่านสินเชื่อธนาคารพาณิชย์และตลาดการเงินได้อย่างต่อเนื่อง

“กนง.มองว่า นโยบายการคลังและนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เป็นเพียงเครื่องมือบริหารจัดการเศรษฐกิจในระยะสั้น ที่สามารถช่วยประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงวัฏจักรขาลง แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องแก้ไขด้วย 1) นโยบายด้านแรงงานที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพและค่าจ้างแรงงาน และ 2) นโยบายด้านการเกษตรที่ให้น้ำหนักกับการเพิ่มรายได้เกษตรกรอย่างยั่งยืนมากขึ้น เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่และการลดต้นทุนการผลิต เช่น การวิจัยพันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตสูง การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมให้มีการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม การบริหารจัดการน้ำ และการเผยแพร่ข้อมูลพยากรณ์ดินฟ้าอากาศ เป็นต้น” แหล่งข่าวกล่าว