เส้นทางสู่ ยูนิคอร์น สตาร์ตอัพ

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย วีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ ธนาคารกรุงเทพ

สวัสดีครับ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา องค์กรขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรที่อยู่ในสายเทคโนโลยี ต่างหันมาให้ความสำคัญกับการบ่มเพาะผู้ประกอบการน้องใหม่ หรือที่เรียกกันว่า Startup จนถึงขณะนี้ ผมคิดว่าคำว่าธุรกิจสตาร์ตอัพ คงเป็นคำที่ทุกท่านเริ่มคุ้นเคยกันแล้วนะครับ

สำหรับในฉบับนี้ ผมจะมากล่าวถึงสุดยอดสตาร์ตอัพ ซึ่งมีจำนวนเพียงหยิบมือ ท่ามกลางธุรกิจสตาร์ตอัพนับหมื่นนับแสนที่กำลังก่อร่างสร้างธุรกิจของตนอยู่ทั่วโลก สตาร์ตอัพที่ว่านี้ได้รับการขนานนามว่า ยูนิคอร์น

ยูนิคอร์นคืออะไร ? ยูนิคอร์น คือ สตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล โดยสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดจนบริษัทมีมูลค่าสูงมาก โดยบริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้การระดมทุนจากภายนอก ไม่ใช่การระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ และสามารถขยายฐานการตลาดได้ทุกภูมิภาคทั่วโลก

ล่าสุด บริษัทวิจัย CBInsights รายงานว่าในไตรมาสแรกของปี 2560 ทั่วทั้งโลก มีบริษัทสตาร์ตอัพที่เรียกว่ายูนิคอร์นเป็นจำนวนทั้งสิ้น 209 บริษัท คิดเป็นมูลค่ารวม 730,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยบริษัท Uber จากอเมริกา ผู้ให้บริการแท็กซี่ส่วนบุคคล (Ride Sharing) มีมูลค่าเป็นอันดับหนึ่ง 68,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับสอง คือ บริษัท Didi Chuxing จากประเทศจีน ซึ่งถือเป็นคู่แข่งของ Uber มีมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับสาม บริษัท Xaomi ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่จากประเทศจีน ด้วยมูลค่า 46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยอันดับสี่จากอเมริกา คือ Airbnb ซึ่งให้บริการด้านการท่องเที่ยวและที่พัก มีมูลค่า 29,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนตลาดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มียูนิคอร์นที่เรารู้จักกันดี ก็คือ GrabTaxi จากสิงคโปร์ มูลค่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดอันดับที่ 23 บริษัท Garena ผู้พัฒนาบริการและซอฟต์แวร์บนมือถือจากสิงคโปร์ มูลค่า 3,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดอันดับที่ 37 และลำดับที่ 63 คือบริษัท Traveloka ผู้ให้บริการค้นหาที่พักออนไลน์และแอปพลิเคชั่นบนมือถือจากอินโดนีเซีย มูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับประเทศไทย แม้จะมีสตาร์ตอัพไทยได้รับเงินสนับสนุนอยู่ในระดับ 10-50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่การจะก้าวขึ้นไปเป็นยูนิคอร์นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หากสตาร์ตอัพเหล่านี้คิดจะทำตลาดในประเทศไทยเท่านั้น เนื่องจากยูนิคอร์นที่ผมยกตัวอย่างข้างต้น ต่างขยายธุรกิจของตนไปทั่วโลก ปัจจัยที่สตาร์ตอัพไทยควรพิจารณาก็คือ โลกธุรกิจทุกวันนี้ยังมีความต้องการการสร้างสรรค์นวัตกรรมบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อีกจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว (Travel) บริการเทคโนโลยีด้านการเงิน (Financial Technology) ธุรกิจเกี่ยวกับเกษตรกรรม บริการออนไลน์และอีคอมเมิร์ซ รวมถึงธุรกิจบริการเพลงหรือวิดีโอแบบสตรีมมิ่ง (Music and Video Streaming) ดังนั้นสตาร์ตอัพไทยควรเริ่มต้นด้วยการนำผลงานเข้าสู่เวทีการแข่งขันต่าง ๆ เพื่อให้ได้รับเงินสนับสนุนก้อนแรก ซึ่งจะมากน้อยขึ้นอยู่กับกองทุนร่วมลงทุน หรือ Venture Capital (VC) เพื่อใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นรูปธรรมและออกสู่ตลาดใช้ได้จริง ถือเป็นยุคก่อตั้ง ก่อนจะขยายธุรกิจ พร้อมทั้งพยายามสร้างผลกำไรให้ต่อเนื่องและเพิ่มขึ้น ก่อนจะก้าวไปสู่การเข้าซื้อธุรกิจ (Acquisition) กระทั่งนำไปสู่การสร้างมูลค่าในระดับยูนิคอร์นได้ต่อไป


สำหรับธนาคารกรุงเทพ เราได้เปิดโอกาสให้กลุ่มบริษัทสตาร์ตอัพเข้ามาร่วมโครงการ Bangkok Bank InnoHub ซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัพ (Accelerator Program) ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อเร่งการเติบโตด้านนวัตกรรม ช่วยลดระยะเวลาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อให้กลุ่มบริษัทสตาร์ตอัพสามารถออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ที่เหมาะสม เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้รวดเร็วขึ้น เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยผู้ประกอบการไทยพร้อมก้าวไปสู่ตลาดโลกได้ด้วยเครือข่ายของธนาคาร