กังวลอุปทานน้ำมันดิบล้น กดดันราคาน้ำมันดิบร่วงต่อ

– ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับตัวลดลง 2.5% แตะระดับต่ำสุดตั้งแต่ เม.ย. 61 และราคาน้ำมันดิบ เบรนท์ปรับลดกว่า 2.9% จากความกังวลต่ออุปทานน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับอุปสงค์น้ำมันดิบที่คาดว่าจะอ่อนตัวลงตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง หลังสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงยืดเยื้อ

– ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากอุปทานน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก ทั้งจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 11.35 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ส.ค. 61 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียที่แตะระดับ 11.41 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 2534

– นักลงทุนมีความกังวลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนว่าจะฉุดเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัวลง หลังรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของจีนในเดือนต.ค. 61 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 50.2 โดยเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ ก.ค. 59 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 2 ปี จากอุปสงค์ที่ชะลอตัวลงทั้งในและต่างประเทศ หลังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากถูกกดดันโดยปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับปริมาณการส่งออกจากสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยมีแรงหนุนจากอุปสงค์ในภูมิภาคเอเชียที่ยังคงแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดีเซลยังถูกกดดันจากอุปทานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากจีน

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 60-65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 70-75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 7 ติดต่อกัน หลังความต้องการใช้น้ำมันดิบยังคงอยู่ในระดับต่ำในช่วงการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่น รวมถึง ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นมาแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี

อุปทานน้ำมันดิบจากอิหร่านมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลังหลายประเทศลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านก่อนที่สหรัฐฯ จะประกาศคว่ำบาตรอิหร่านซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 4 พ.ย. เป็นต้นไป

จับตาการเจรจาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ว่าจะสามารถหาข้อสรุปได้หรือไม่ หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และประธานาธิบดีจีน เตรียมหารือร่วมกันนอกรอบในการประชุดสุดยอดผู้นำโลก G20 ที่ประเทศอาร์เจนตินา ในปลายเดือน พ.ย.นี้