ยอดเคลมประกันเงินกู้ครูพุ่ง ทิพยฯจ่ายหนี้แทน 1.2 หมื่นล้าน

“ทิพยประกันภัย” หืดจับ “ประกันสินเชื่อครู” จ่ายเคลมทะลุ 1.2 หมื่นล้าน จ่ายหนี้ครูเสียชีวิตกว่า 2.4 หมื่นราย จ่อถอนตัว “ออมสิน-สกสค.” หาประกันใหม่ ผอ.ออมสินเผยมีบริษัทประกันชีวิต-วินาศภัยสนใจเข้าร่วม 7 ราย

ประกันสินเชื่อครูเคลมพุ่ง

นายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่บริษัทเป็นผู้เสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพ “สินเชื่อปลอดภัย” เพื่อใช้เป็นตัวค้ำประกันของโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิกกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกครู (ช.พ.ค.) ซึ่งปีนี้กรมธรรม์ดังกล่าวจะทยอยครบสัญญาความคุ้มครอง 9 ปี ซึ่งที่ผ่านมามีสมาชิกครูที่ทำประกันภัยกับบริษัทหลายแสนคน

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ไม่ค่อยมีกำไร เพราะนับตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2552 บริษัทดำเนินการจ่ายค่าสินไหมให้แก่ธนาคารออมสินและทายาทผู้เสียชีวิตมากกว่า 24,740 ราย หรือคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 12,643 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการจ่ายคืนให้ทายาทในกรณีมีส่วนที่เกินจากมูลหนี้ที่คงค้างกว่า 773 ล้านบาท

โครงการนี้บริษัทคิดค่าเบี้ยประกันภัยอัตราเดียว (single rate) สำหรับทุกเพศและทุกช่วงอายุที่ 620 บาท/ปี/ต่อทุนประกัน 1 แสนบาท ซึ่งคำนวณจากจำนวนเงินกู้โดยได้ให้ส่วนลดและต่ำกว่าราคาตลาดประมาณ 15% เพียงแต่ต้องจ่ายเบี้ยประกันล่วงหน้า 9 ปีเพื่อครอบคลุมสินเชื่อที่กู้ เนื่องจากโครงการเงินกู้ ช.พ.ค. กำหนดให้ข้าราชการครูต้องมีผู้ค้ำประกันเงินกู้ตามวงเงินที่ธนาคารออมสินกำหนด ซึ่งต้องใช้บุคคลค้ำประกันตั้งแต่ 5-10 คน เพื่อค้ำประกันซึ่งกันและกัน หากเกิดกรณีที่ผู้กู้เสียชีวิต ผู้ค้ำประกันจะต้องแบกรับภาระหนี้ที่เหลือแทน ทำให้ข้าราชการครูหาคนค้ำประกันได้ยาก บริษัทจึงได้เสนอกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพสินเชื่อปลอดภัย โดยรับประกันให้แก่ข้าราชการครูทุกรายที่แจ้งความประสงค์ โดยไม่ต้องตรวจสุขภาพ ผู้ที่เข้าร่วมโครงการครั้งแรกอายุต้องไม่เกิน 65 ปี เพื่อให้ในการค้ำประกันเงินกู้วงเงินตั้งแต่ 6 แสนบาทถึง 3 ล้านบาท จะคิดเบี้ยประกันเท่ากันทุกกลุ่มอายุ ทุกเพศ เช่น ถ้ากู้เงิน 3 ล้านบาท เบี้ยประกัน 9 ปี จะอยู่ประมาณ 9 หมื่นบาท

“เราทำไปก็แค่เสมอตัว แต่ที่ตัดสินใจทำเพราะต้องการช่วยเหลือครูที่มีความจำเป็นต้องการเงินกู้และใช้กรมธรรม์เป็นตัวค้ำประกัน แต่พอมีปัญหาและกล่าวหาเรามาก ๆ ว่าเก็บเบี้ยแพงครั้งเดียว 9 ปี ดังนั้นเพื่อความสบายใจกับทุกฝ่าย บริษัทจึงปรับรูปแบบการคิดเบี้ยใหม่เป็นแบบรายปีในอัตราเบี้ยเท่าเดิม สำหรับครูที่ต้องการซื้อกรมธรรม์ต่อ เพื่อเปิดโอกาสให้ทาง ช.พ.ค.ไปเจรจาหาบริษัทประกันภัยอื่น ๆ มารับประกันได้ และเราก็พร้อมถอนตัวออกจากโครงการนี้” นายสมพรกล่าว

ดิ้นหาประกันรายใหม่

นายสมพรกล่าวว่า ก่อนหน้านี้บริษัทได้มีการหารือกับธนาคารออมสินและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เพื่อให้ไปเจรจาหาบริษัทประกันภัยอื่น ๆ ที่สนใจเข้ามารับประกันให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่ายังไม่สามารถหาได้ เนื่องจากบริษัทประกันรายใหม่ได้เสนอค่าเบี้ยแพงกว่าถึง 2 เท่า ดังนั้นบริษัทจึงขยายเวลาออกไปอีก 1 ปี

“หากเราหยุดรับประกัน ก็กังวลเพราะมีครูดี ๆ ที่ได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะฉะนั้นบริษัทให้ครูที่ต้องการทำประกันแจ้งความประสงค์เข้ามาได้ แต่บริษัทก็มีสิทธิ์เลือกได้ว่าจะรับประกันหรือไม่ ซึ่งขณะนี้มีผู้ต่ออายุกรมธรรม์แล้ว 90% เพราะเราเองไม่ได้คิดค่าเบี้ยเพิ่มตามอายุที่มากขึ้น เหมือนประกันชีวิต” นายสมพรกล่าว

7 บริษัทประกันโดดชิงเค้ก

ด้านนายประสิทธิ์ชัย สุนทราภิรมย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่ สกสค.ได้ทำหนังสือเชิญชวนบริษัทประกันชีวิตและประกันวินาศภัยที่สนใจทั้งหมด 31 ราย และมีการตอบรับเข้ามาแล้ว 7 ราย ซึ่งประกอบด้วย บมจ.กรุงไทยแอกซ่าประกันชีวิต, บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต, บมจ.สหประกันชีวิต, บมจ.ไทยประกันชีวิต, บมจ.ฟิลลิปประกันชีวิต, บมจ.ทิพยประกันชีวิต, บมจ.วิริยะประกันภัย ซึ่งทาง สกสค.จะพิจารณาคัดเลือกเพียงรายเดียว

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ธนาคารออมสินและ สกสค. อยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือกบริษัทประกันเข้ามารับประกันสินเชื่อครูของ ช.พ.ค. จากที่มีผู้สนใจทั้งหมด 7 ราย ได้เข้ามารับฟังเงื่อนไขรายละเอียดแล้วว่าจะต้องเสนอความคุ้มครองอะไรบ้าง ที่สำคัญต้องคำนวณค่าเบี้ยประกันแบบไม่มีคอมมิสชั่น เพื่อลดค่าเบี้ยประกันภัยให้กับสมาชิก ช.พ.ค.ได้ดีที่สุด รวมถึงลบคำครหาจากการมีผลประโยชน์ในการทำประกันภัยเหมือนช่วงที่ผ่านมาเพื่อให้เกิดความโปร่งใส คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้ และช่วงปี 2562 บริษัทประกันที่ผ่านการคัดเลือกจะสามารถเข้าไปรับประกันสินเชื่อครู ในโครงการ ช.พ.ค.ได้

“เรายังไม่ได้ตัดสินใจเลือกบริษัทที่จะเข้ามารับประกันว่าเป็นใคร โดยระหว่างนี้จะแก้ปัญหาเบื้องต้นโดยให้สมาชิก ช.พ.ค.ทำประกันภัยกับบริษัททิพยประกันภัยแบบรายปีไปก่อน ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าที่สมัครใจรอทำประกันภัยในส่วนนี้ราว 80-90%” นายชาติชายกล่าว

ออมสินถก คปภ.ปรับเงื่อนไข

นายชาติชายกล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารได้เข้าไปหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แล้ว โดยสำนักงาน คปภ.ต้องการให้บริษัทประกันภัยที่เข้ามารับประกันจะต้องคิดค่าเบี้ยประกันภัยตามอัตราเพศและช่วงอายุ โดยจะแบ่งช่วงอายุเป็นทุก ๆ 5 ปี อาทิ ช่วงอายุ 30-35 ปี, 40-45 ปี และขึ้นไปจนถึงอายุ 70 ปี ซึ่งจะทำให้ค่าเบี้ยประกันไม่เท่ากัน เนื่องจากเป็นรูปแบบการทำประกันชีวิต

“กรณีที่มีอายุมากขึ้นก็มีโอกาสเสี่ยงในการเสียชีวิตมากขึ้น ทำให้ค่าเบี้ยจะแพงกว่าผู้ที่มีอายุน้อย รวมถึงผู้หญิงมีโอกาสเสี่ยงในการเสียชีวิตน้อยกว่าผู้ชาย ดังนั้นค่าเบี้ยประกันควรจะถูกกว่า” นายชาติชายกล่าว

ช่วงที่ผ่านมาโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิกกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกครู (ช.พ.ค.) ส่วนใหญ่จะทำประกันแบบเหมาราคาเดียว ทำให้เกิดการได้เปรียบและเสียเปรียบ เพราะฉะนั้นบริษัทประกันภัยที่เข้ามาเสนอรับประกันโครงการนี้ จะต้องคิดอัตราเบี้ยประกันภัยตามที่ คปภ.กำหนด

“ปัจจุบันมีสมาชิกครูที่เข้าร่วมโครงการนี้อยู่ทั้งสิ้น 4 แสนกว่าราย โดยมีสัดส่วนมากถึง 85% ที่ทำประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพสินเชื่อปลอดภัยในโครงการ ช.พ.ค. ซึ่งการทำประกันถือเป็นออปชั่นหนึ่งที่ให้ลูกค้าเลือกโดยความสมัครใจว่าจะทำหรือไม่ทำประกันภัยก็ได้”