เมื่อหุ้นร่วงสวนทางผลประกอบการ

คอลัมน์ เติมความติดพิชิตการลงทุน

โดย พรเทพ ชูพันธุ์ บล.ไทยพาณิชย์ จำกัด

ผ่านไปแล้วกับเดือนตุลาคมแดงเดือด ตลาดหุ้นไทย SET index ปรับตัวลงถึง 5% (เดชะบุญที่ปลายเดือนเด้งขึ้นมา 2.5% มิเช่นนั้นปิดเดือนลบเกือบ 8%) ซึ่งแม้ บล.ไทยพาณิชย์จะยังคงมุมมองที่ดีต่อตลาดหุ้น แต่การปรับตัวลงดังกล่าวก็ทำให้เราต้องหันกลับมาเช็กสต๊อกว่าปัจจัยต่าง ๆ ที่เรามองนั้นมีอะไรเปลี่ยนไปมากมายหรือ หุ้นถึงปรับตัวลงแรง

อะไรทำให้หุ้นร่วง ? คำตอบคือ คนขายหุ้นใจร้อนเคาะซ้าย (โยนใส่คนตั้งรับซื้อ) ส่วนคนซื้อไม่ค่อยยอมเคาะขวา (ไม่ไล่ราคา) ถามต่อว่าแล้วใครขาย ? คำตอบคือ นักลงทุนต่างประเทศ (ส่วนจะเป็นฝรั่งจริงหรือฝรั่งหัวดำ ผมไม่ขอพูดถึงนะครับ) โดยในเดือนตุลาคม มีวันเปิดทำการซื้อขายทั้งสิ้น 21 วันทำการ มีเพียงวันที่ 1 ตุลาคมเท่านั้นที่ foreign net bought 475 ล้านบาท ที่เหลืออีก 20 วันทำการ ฝรั่งขายสุทธิรวมกว่า 6.4 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยทั้งเดือนขายสุทธิวันละ 3 พันล้านบาท แล้วหุ้นมันจะไม่ลงอย่างไรไหว

ดูแล้วน่าจะเป็นการขายแบบ “สาด” โดยเป็นการปรับพอร์ตลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง (risk off) ขายหุ้นในตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) ซึ่งในนั้นมีหุ้นไทยอยู่ด้วย สมมุตินักลงทุนต่างประเทศได้ข่าวสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ข่าววิกฤตค่าเงินใน EM บางประเทศ ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐเริ่มปรับตัวลง ฯลฯ อารมณ์กังวลอาจทำให้เขาสั่งลดพอร์ตสินทรัพย์เสี่ยง ขายหุ้นในประเทศทิ้ง และสั่งขายกองทุนรวมที่ลงทุนในตลาดเกิดใหม่ ผลจึงมาโผล่ที่ตลาดหุ้นไทย คือมีคำสั่งจากกองทุนต่างประเทศให้ขายหุ้น โดยขายตามสัดส่วน (บางประเทศโดนเยอะ บางประเทศโดนน้อย) เพื่อเอาเงินมาคืนผู้ถือหน่วยที่ต้นทาง การขายแบบนี้มักเป็นการเคาะซ้ายโดยไม่ค่อยดูปัจจัยพื้นฐาน (ไม่มีทางเลือก ลูกค้าสั่งขายหน่วย กองทุนก็ต้องขายหุ้น)

สัญญาณของอาการ risk off สามารถดูได้จากหลายอย่าง เช่น volatility index หรือดัชนีชี้วัดความผันผวน ซึ่งบ่งบอกถึงมุมมองของนักลงทุนว่ากังวลต่อความผันผวนมากแค่ไหน พบว่าในเดือน ต.ค. VIX index (ของ S&P500) ปรับตัวขึ้นจาก 12 จุดต้นเดือนมาที่ 24 จุดตอนปลายเดือน (สูงขึ้น 2 เท่า) เป็นไปในทิศทางเดียวกับ volatility index ในยุโรป หรือแม้แต่ตลาดตราสารหนี้ที่ปรับตัวขึ้น นอกจากนั้นเรายังเห็นค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งมักเกิดพร้อมกับการลดการถือครองหุ้นตลาดเกิดใหม่ (unwind yen carry trade) รวมถึงราคาทองที่สูงขึ้น (คนมักมองทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย)

ปัจจัยพื้นฐานมีอะไรเปลี่ยนไป ? ในภาพรวมความเสี่ยงมีมากขึ้น ดอกเบี้ยจะปรับตัวขึ้นต่อ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้น่าจะผ่านพ้นจุดสูงสุด (ยังจะเติบโตต่อ แต่อาจจะชะลอลง) โดยในเดือน พ.ย. มีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามหลายเรื่องที่ทำให้เกิดความกังวล เช่น 6 พ.ย. มีการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐ คาดว่า Democrat จะชนะในสภาล่าง ทำให้ทรัมป์ทำนโยบายต่าง ๆ ในประเทศได้ยากขึ้น, 13 พ.ย. มีการประชุม European Commission ซึ่งต้องจับตามองเรื่อง Brexit และงบประมาณประจำปีของอิตาลีที่ขาดดุลมากเกินไปว่าจะยอมปรับลดหรือไม่, ส่วนปลายเดือน 26-30 พ.ย. มีการประชุม G20 ซึ่งทรัมป์จะพบกับสี จิ้นผิง ถ้าตกลงกันไม่ได้ อาจมีการขึ้นภาษีใส่กันอีกรอบ

แต่อย่างไรก็ตาม พื้นฐานทั้งทางเศรษฐกิจและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนยังคงแข็งแกร่ง หากแยกวิเคราะห์การปรับตัวลงของ SET index ว่าเกิดจากผลประกอบการเปลี่ยนแปลงเท่าไร และอัตราส่วน P/E ขยับขึ้นลงแค่ไหน พบว่า จนถึงปลายเดือน ต.ค. (October year-to-date) พบว่าปีนี้ SET index ปรับตัวลง -4.8% สวนทางกับปัจจัยพื้นฐานกับผลกำไรบริษัททั้งตลาด earnings-per-share ที่ปรับตัวขึ้น 5.6% ส่งผลให้อัตราส่วน P/E ratio (ตัววัดความถูกหรือแพงของราคาหุ้นเทียบกับผลประกอบการ) ปรับตัวลงมาถึง -9.8% นั่นหมายความว่า ตลาดหุ้นไทยไม่แพงเหมือนเมื่อต้นปีแล้ว และพื้นฐานผลประกอบการก็ทำได้ค่อนข้างดีด้วย โดยช่วงนี้บริษัทจดทะเบียนกำลังเริ่มรายงานผลประกอบการไตรมาส 3/61 ซึ่ง consensus คาดว่าจะเติบโตถึงราว 20%YOY ซึ่งกลุ่มแรกที่ประกาศผลแล้วทำได้ดีเกินคาด คือการเงินธนาคาร กำไรเติบโต 16% สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะโตราว 10%

ดังนั้นเรายังคงมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทย โดยเรามองการปรับตัวลงของตลาดในช่วงที่ผ่านมาจากการขายของนักลงทุนต่างชาติ น่าจะเป็นโอกาสในการเก็บหุ้นพื้นฐานดี ภายใต้ปัจจัยพื้นฐานทั้งด้านเศรษฐกิจที่ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์คาดว่า GDP จะขยายตัวราว 4.5% ในปีนี้ และ 4.0% ในปีหน้า และด้านผลประกอบการบริษัทที่เรามองว่า earnings น่าจะโตประมาณ 8-10% ทั้งในปีนี้และปีหน้า


โดยในเดือน พ.ย.นี้เราเลือกหุ้น top picks ได้แก่ กลุ่มเติบโตตามวัฏจักรการลงทุนของไทย ทั้ง EEC และโครงสร้างพื้นฐานที่จะส่งผลให้ธนาคารปล่อยกู้ได้มากขึ้น และรับผลดีจากดอกเบี้ยขาขึ้น (AMATA, BBL, KTB) และหุ้นที่ราคาปรับตัวลงมามาก แต่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง (CPALL) ตลอดจนแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า (บาทอ่อนค่า) ส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มส่งออก (TU, CPF)