ร่าง พ.ร.บ.กบช.ส่อแววแท้ง รัฐเลี่ยงเพิ่มภาระ-จี้ กอช.เพิ่มสมาชิก

กฎหมายจัดตั้ง กบช.ส่อแท้ง-กลไกออมเพื่อเกษียณรับสังคมสูงวัยสะดุด ชี้ใกล้เลือกตั้งรัฐบาลไม่อยากเพิ่มภาระประชาชน รมช.คลังจี้ กอช.เร่งปรับกลยุทธ์ดึงแรงงานนอกระบบเข้าเป็นสมาชิกให้ได้ 1 ล้านรายในปี 2562

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) 2 ปีก่อน ปัจจุบันยังคงค้างอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงมีแนวโน้มสูงที่จะผ่านกฎหมายออกมาบังคับใช้ได้ไม่ทันในรัฐบาลปัจจุบัน รวมถึงทำไม่ได้ตามเป้าหมายเดิมที่เคยตั้งไว้ว่า จะเริ่มรับสมาชิก กบช.ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป

“กบช.เป็นการออมภาคบังคับที่จะมาเติมเต็มการออมเพื่อเกษียณอายุ รองรับสังคมสูงวัย เพราะกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ไม่เพียงพอ เนื่องจากเป็นการออมแบบสมัครใจ ซึ่งเดิมมีการตั้งเป้าหมายว่า กบช.จะเริ่มรับสมาชิกได้ตั้งแต่ปี 2561 นี้เป็นต้นไป แต่จนถึงขณะนี้จะสิ้นปี 2561 แล้ว ร่าง พ.ร.บ.ยังค้างอยู่ในกฤษฎีกา และมีแนวโน้มสูงที่จะตกไป เพราะช่วงนี้ใกล้เลือกตั้ง ทำให้รัฐบาลไม่ต้องการเสนออะไรที่จะเป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชน ซึ่ง กบช.ต้องมีการจ่ายเงินเข้ากองทุน ก็เหมือนต้องจ่ายภาษี” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ การเสนอร่าง พ.ร.บ.กบช.มีความจำเป็น เนื่องจากคนไทยวัยแรงงานส่วนใหญ่มีเงินออมไว้ใช้หลังเกษียณน้อย และมีแนวโน้มจะตกสู่ภาวะยากจนในวัยสูงอายุ จึงต้องส่งเสริมให้มีการออมเพิ่ม ซึ่งตามแนวทางที่กระทรวงการคลังได้จัดทำไว้ หากกฎหมายนี้บังคับใช้จะเกิดประโยชน์คือ รายได้หลังเกษียณของลูกจ้างเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 50% ของรายได้ก่อนเกษียณ ถือว่าเพียงพอรองรับหลังเกษียณ จากปัจจุบันที่ลูกจ้างเอกชนส่วนใหญ่มีรายได้หลังเกษียณแค่ 19% ขณะเดียวกันเงินออมของประเทศก็จะเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน

แหล่งข่าวกล่าวว่า กบช.มีกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ที่มีอายุ 15-60 ปี ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ภายใน 2 ปีหลังกฎหมายประกาศใช้ นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป กิจการที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ กิจการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หน่วยงานรัฐที่ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน และกิจการอื่น ๆ เข้าสู่ระบบ กบช. จากนั้นในปีที่ 5 จะบังคับใช้กับกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และปีที่ 7 บังคับใช้กับกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปต้องเข้าสู่ระบบ กบช.

โดยการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบ ปีที่ 1-3 นายจ้างและลูกจ้างต้องนำส่งฝ่ายละไม่ต่ำกว่า 3% ของค่าจ้าง ปีที่ 4-6 ฝ่ายละไม่ต่ำกว่า 5% ปีที่ 7-9 ฝ่ายละไม่ต่ำกว่า 7% และปีที่ 10 เป็นต้นไป ฝ่ายละไม่เกิน 10% ซึ่งกรณีลูกจ้างได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือน ให้นายจ้างส่งเงินฝ่ายเดียว นอกจากนี้ ลูกจ้างหรือนายจ้างสามารถส่งเงินสูงกว่าที่กำหนดได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 30% ของค่าจ้าง ทั้งนี้ เมื่อลูกจ้างอายุครบ 60 ปี จะสามารถเลือกรับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นบำนาญ 20 ปี หรือบำเหน็จก็ได้

“ถ้ากฎหมายบังคับใช้ มีการประเมินว่าในปีแรกจะมีเงินออมเพิ่มขึ้นในระบบ 64,000 ล้านบาท จากนั้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 500,000 ล้านบาทในปีที่ 5 และ 1.7 ล้านล้านบาทในปีที่ 10” แหล่งข่าวกล่าว

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง กล่าวในงานมอบรางวัลส่งเสริมการออมดีเด่น ประจำปี 2561 เนื่องในวันออมแห่งชาติที่จัดโดย กอช.ว่า ปัจจุบันกองทุนเพื่อการออม มีหลายกองทุน ทั้งแบบภาคบังคับและสมัครใจ โดยมีคนไทยกว่า 21 ล้านคนที่ยังไม่เข้าสู่ระบบการออมเพื่อเกษียณอายุ ซึ่งกลไก กอช.สามารถรองรับได้ เพียงแต่ กอช.เป็นกองทุนที่ไม่บังคับ ซึ่งมุ่งเน้นแรงงานนอกระบบ อาชีพอิสระที่ไม่มีนายจ้าง ทั้งนี้ กอช.ควรจะต้องเข้าถึงกลุ่มคนเหล่านี้ให้ได้มากขึ้น เพราะลำพังช่องทางแอปพลิเคชั่นคงช่วยเพิ่มจำนวนสมาชิกไม่ได้มาก

“ได้มอบนโยบายให้ กอช.หาช่องทางเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น ถี่ขึ้น และให้เกิดความสะดวก เพราะคนเหล่านี้ประกอบอาชีพทุกวัน ไม่มีเวลามาติดต่อราชการมาก ฉะนั้นต้องมีช่องทางให้เขาเข้าถึงได้สะดวกขึ้น ซึ่งเป้าหมายสมาชิก กอช.ก็อยากให้ได้ถึง 1 ล้านคนในปี 2562 จากตอนนี้ที่มีราว 6 แสนคน” นายวิสุทธิ์กล่าว