สรรพสามิตจ่อชงแพคเกจภาษีใหม่เข้าครม. ทั้ง’รถยนต์ไฟฟ้า ยาเส้น มอไซค์ สินค้าไขมันทรานส์’

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต(แฟ้มภาพ)

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาแพกเกจภาษีใหม่ไม่เกินเดือนธันวาคมนี้ โดยมีภาษีที่จะเสนอประกอบด้วย เช่น รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ภาษีสินค้าที่มีความเค็มและความมัน ภาษียาเส้น เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางส่งเสริมสุขภาพ ภาษีรถจักรยายนต์คิดตามค่ามลพิษ ภาษีสารเคมีอันตรายในภาคการเกษตร เป็นต้น

นายพชรกล่าวว่า แพคเกจภาษีที่เสนอครม.จะทำทั้งภาษีใหม่ และปรับปรุงภาษีตัวเดิมให้ทันสมัยมากขึ้น โดยกรมไม่เน้นรายได้ แต่การจัดเก็บภาษีของกรมจะยึดยุทธศาสตร์ของประเทศทั้งในเรื่องการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ หรือ New S-curve รวมถึง การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น ฉะนั้น แนวนโยบายในการจัดเก็บภาษีของกรมฯก็จะปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่จะสนับสนุนการใช้พลังงานที่ก่อให้เกิดมลพิษน้อยลงและคำนึงถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น

นายพชรกล่าวว่า ในส่วนรถยนต์ไฟฟ้ามีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด เพื่อร่วมพิจารณาว่า จะส่งเสริมอัตราภาษีในสินค้าดังกล่าวได้อย่างไร ซึ่งคณะกรรมการจะประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงการคลัง กรมสรรพสามิต กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชน โดยจะเริ่มประชุมนัดแรกในช่วงต้นเดือนพฤศิกายน นอกจากสนับสนุนรถยนต์แล้วแบตเตอร์รี่ที่จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าที่จะใช้มาตรการภาษีมาสนับสนุนเพื่อลดมลพิษและขยะในประเทศด้วย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นว่า เมื่อผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าได้นำสินค้าแบตเตอร์รี่เข้ามาใช้ในประเทศแล้ว ก็ควรจะมีการรีไซเคิลสินค้าดังกล่าว เพื่อลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วย

นายพชรกล่าวว่า ส่วนสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชนนั้น กรมฯกำลังพิจารณาจัดให้สินค้าประเภทเกลือ และสินค้าที่ทำให้เกิดไขมันทรานส์ เป็นสินค้าที่จะใช้มาตรการภาษีมาสนับสนุนให้ลดการบริโภคด้วย โดยสินค้าดังกล่าว ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ระบุว่า เป็นหนึ่งในสินค้าที่ทำลายสุขภาพเช่นเดียวกันกับน้ำตาล นอกจากนี้ ยังจะมีสารเคมีที่เกี่ยวกับการเกษตรบางชนิดที่ปัจจุบันยังมีการนำเข้า ซึ่งมีผลทำลายทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ก็จะถูกจัดกลุ่มที่จะใช้นโยบายภาษีเข้ามากำกับดูแลด้วย

นายพชรกล่าวว่า นอกจากนี้มีแนวคิดที่จะเข้าไปควบคุมคุณภาพสินค้าบาป เช่น ยาเส้น ซิกาแรต เหล้า เบียร์ และสินค้าตัวใหม่ เพื่อให้มีมาตรฐานคือต้องไม่มีส่วนผสมที่ทำให้คนเสียชีวิต โดยกำหนดไปเลยว่าต้องมีส่วนผสมอย่างไร และประกาศให้ผู้ผลิตต้องดำเนินการตาม เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค สำหรับภาษียาสูบที่เก็บไปแล้วนั้น ยังยืนยันดำเนินการตามแผนเดิมเก็บภาษีมูลค่า 40% ของราคาขายปลีกแนะนำในปี 2562 จากขณะนี้บุหรี่ต่ำกว่า 60 บาทเก็บ 20% ซึ่งยอมรับว่าทำให้ราคาบุหรี่ในไทยปรับสูงขึ้น ทำให้ผู้สูบหันไปสูบยาเส้น ดังนั้นเตรียมพิจารณาปรับขึ้นภาษียาเส้นให้สอดคล้องกันด้วย

นายพชรกล่าวว่า หลังจากมีการประกาศใช้ภาษีสรรพสามิตมา 1 ปี พบว่าสินค้าบางรายการแจ้งราคาขายปลีกแนะนำต่ำมาก เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี เช่น รถยนต์ และ ไวน์ ดังนั้น ตนจึงได้สั่งการให้ตรวจสอบราคาขายปลีกแนะนำในทุกรายการสินค้าที่อยู่ในพิกัดภาษีของกรมสรรพสามิตว่า มีโครงสร้างราคาแท้จริงอย่างไร ถ้าผู้ประกอบแจ้งราคาขายปลีกแนะนำต่ำ การจัดเก็บภาษีก็คลาดเคลื่อน ดังนั้นต้องไปดูในไส้ใน ในเรื่องโครงสร้างต้นทุน นอกจากนี้ ตนยังสั่งการให้แยกหน่วยงานตรวจสอบย้อนหลังออกมาเป็นกองกำกับและตรวจสอบภาษีสรรพสินค้า เพื่อดูการชำระภาษีย้อนหลังว่า ถูกต้องหรือไม่อีกด้วย

นายพชรกล่าวว่า สำหรับการจัดเก็บรายได้ในเดือนตุลาคม เป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 พบว่า มียอดการจัดเก็บที่ 2.68 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 32% และ ต่ำกว่าประมาณการ 26.84% หรือเกือบ 1 หมื่นล้านบาท โดยสินค้าหลักหลายรายการจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ อาทิ ภาษีน้ำมัน ต่ำกว่าประมาณการ 69.17% ภาษีเบียร์ต่ำประมาณการ 86.36% ภาษีสุราต่ำกว่าประมาณการ 21.32% อย่างไรก็ดี ภาษีรถยนต์สูงกว่าประมาณการ 23.11% ภาษียาสูบสูงกว่าประมาณการ 41.40% เป็นต้น

“แม้ว่า ในเดือนแรกจัดเก็บรายได้ต่ำประมาณการอยู่มาก แต่เชื่อว่า ตลอดทั้งปีงบประมาณจะจัดเก็บได้ตามเป้าหมายที่ 6 แสนล้านบาท โดยจะเป็นผลจากการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บตามแนวทางดังกล่าวข้างต้น”นายพชร กล่าว

ที่มา:มติชนออนไลน์