บอร์ด ยสท. เคาะแนวทางชดเชยรายได้200ล้านบาท หวังช่วยเหลือเกษตรกรปลูกใบยาสูบ

บอร์ด ยสท.เคาะแนวทางชดเชยรายได้จากส่วนแบ่งทางการตลาดที่ลดลง วงเงิน 200 ล้านบาท หวังช่วยเหลือเกษตรกรปลูกใบยาสูบ มีรายได้ 70% จากที่เคยได้ กรณีเกษตรกรปลูกพืชอื่นแทนได้รับชดเชยรายได้อยู่ที่ 40% คาดเริ่มใช้มาตรการเร็วๆนี้

นายยุทธนา หยิมการุณ รองปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ล่าสุดคณะกรรมการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ได้ข้อสรุปแนวทางการการช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกใบยาสูบและผลกระทบรอบด้านจากการดำเนินการแล้ว โดยอนุมัติวงเงิน 200 ล้านบาท ทางภาครัฐจะช่วยเกษตรกรที่ปลูกใบยาสูบ โดยการชดเชยรายได้จากส่วนแบ่งทางการตลาดที่ลดลงให้แก่เกษตรกรมีรายได้ 70% จากที่เคยได้

รวมถึงในกรณีที่เกษตรกรที่ปลูกใบยาสูบเปลี่ยนเป็นปลูกพืชเกษตรแทนและมีรายได้ที่สามารถพิสูจน์ได้ รัฐจะช่วยชดเชยรายได้ให้แก่เกษตรกรมีรายได้ 40 % คาดว่าจะเริ่มใช้มาตรการดังกล่าวได้เร็วๆนี้

“โดยฤดูกาลรับซื้อใบยาสูบในปี 2562 ที่รัฐจะรับซื้ออยู่ที่ 40% จากเดิมที่เคยรับซื้อใบยาสูบ อยู่ที่ 50-100% เกษตรกรก็มองว่าเขาได้รับผลกระทบเยอะ เราเตือนเกษตรกรตั้งแต่ปี 2560 แล้ว ว่าเกษตรกรจะต้องเปลี่ยนจากการปลูกใบยาสูบเป็นการปลูกอย่างอื่นทดแทน

แต่เกษตรกรมองว่าถ้าปลูกพืชเกษตรอย่างอื่นก็จะไม่ได้กำไร เพราะกลุ่มสินค้าเกษตรมีรายได้ที่ไม่แน่นอน ซึ่งเราคงช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรแบบเดิมไม่ได้เพราะเราไม่ได้มีงบเยอะขนาดนั้น” นายยุทธนา กล่าว

นายยุทธนา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันภาษีบุหรี่ตามกฎหมายสรรพสามิตใหม่ ปี 2560 เก็บตามมูลค่า 20% สำหรับบุหรี่ที่มีราคาซองไม่เกิน 60 บาท และเก็บ 40% สำหรับบุหรี่ที่มีราคาซองเกิน 60 บาท จากที่เคยขายในราคา 65-70 บาท ขึ้นมาเป็น 90-100 บาท

ส่งผลส่วนแบ่งทางการตลาดลดลงมาอยู่ที่ 60% จากเดิมอยู่ที่ 80% ในขณะที่การเก็บอัตราภาษีบุหรี่นอกเก็บตามมูลค่า 20% เนื่องจากเขามีต้นทุนของบุหรี่ต่ำกว่า 60 บาท

ทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของบุหรี่นอกโตไว รวมถึงบุหรี่ที่มีการหนีภาษีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 15-20% จากเดิมอยู่ที่ 5% โดยสาเหตุมาจากราคาบุหรี่ในประเทศที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดแรงจูงใจในการนำเข้าบุหรี่นอกมากขึ้น ส่งผลให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของบุหรี่นอกเพิ่มขึ้นเช่นกัน