“สมคิด” KBTG เผยแผนปี’62 เพิ่มความแรง K+ บล็อกเชน

สมคิด จิรานันตรัตน์ ประธาน บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG)
สัมภาษณ์

เส้นทางธุรกิจโมบายแบงกิ้งของเหล่าธนาคารพาณิชย์ นับวันมีแต่โจทย์ใหม่ ๆ ดีดเด้งเข้ามาให้ต้องปรับตัว เพื่อให้สามารถบริการที่มัดใจลูกค้าไม่ให้โยกย้ายหนีออกไป ค่าย “ธนาคารกสิกรไทย” (KBANK) เพิ่งอัพเกรดแอปพลิเคชั่น “K PLUS” หรือ K+ ไปเมื่อเดือนที่แล้ว ฉากเบื้องหลังคนทำงานตรงนี้ก็มาจากการนำทัพของ นายสมคิด จิรานันตรัตน์ ประธาน บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ซึ่ง “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์มานำเสนอ ดังนี้

Q : อยากให้พูดถึงการสร้างทีมของ KBTG เห็นว่าดึงทาเลนต์มาร่วมงาน

ผมคิดว่าในอนาคตเรื่องเทคโนโลยีจะต้องมีคนที่มีประสบการณ์ในการทำงานระดับโลกมาเสริมในทีม เพราะการที่มีคนระดับโลกมาทำงานกับ KBTG จะช่วยให้บริษัทมีมุมมองที่กว้างขึ้น ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ได้ไปโรดโชว์ตามเมืองใหญ่ ๆ มหาวิทยาลัยดัง ๆ ในอเมริกา ตอนนี้ได้ทาเลนต์มาร่วมงานแล้วราว 10 คน มาอยู่ในทีม machine learning ทำงานร่วมกันกับทีมงานที่จบจากในประเทศ

“เราค่อนข้างเลือก ไม่ใช่นำทาเลนต์มาเป็นกองทัพ เราจะเลือกคนที่เก่งในแต่ละเรื่องมาผสมผสานกับทีมที่หามาในประเทศ เพราะเด็กเก่ง ๆ ในประเทศก็มี เพียงแต่เขาอาจจะยังไม่มีโอกาสไปเจอคนเก่งระดับโลก แต่คนที่ทำงานต่างประเทศจะมีโอกาสเจอคนเก่งเจอเรื่องที่ยากระดับโลก เพราะฉะนั้น คนกลุ่มนี้จะมีมุมมองที่เป็นประโยชน์ หากคน 2 กลุ่มนี้มาผสมผสานกัน จะสามารถสร้างทีมที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศได้”

Q : ตั้งเป้าหมายทีมนี้ไว้อย่างไร

ปัจจุบันทีม machine learning ของบริษัทมีราว 60 คน เป็นทีมที่พัฒนาเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อย่าง K+ โฉมใหม่ ก็ออกแบบพัฒนาให้เป็นแพลตฟอร์มแบบเปิด คือ เปิดให้ “ผู้บริการอื่น” เข้ามาใช้ด้วยได้โดยไม่จำเป็นต้องมาจากเคแบงก์ และก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นบริการทางการเงินด้วย เช่น จะเป็นบริการร้านกาแฟ โรงพยาบาล สมาคมต่าง ๆ เป็นต้น

“K+ จะเป็นแพลตฟอร์มสำหรับชุมชน ซึ่งจะเกิดการจับคู่ระหว่างผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริการ ในหลายรูปแบบ แม้วันนี้จะยังเห็นไม่ชัด แต่สิ่งที่เราคิดและลักษณะที่ออกแบบจะเอื้อประโยชน์ให้ทำสิ่งเหล่านี้ได้โดยมีตัวจักรสำคัญ คือ AI ที่จะทำให้เราสามารถนำบริการใหม่ ๆ เข้ามา ดังนั้น เราต้องมีทีมที่เก่งเรื่องนี้จริง ๆ”

KBTG ตั้งเป้าหมายทีมนี้มีจำนวน 200 คน ภายในปลายปี 2562 เพราะการทำแพลตฟอร์ม จำเป็นต้องมีพื้นฐานและมีฐานด้านใดด้านหนึ่งที่ดีพอ เช่น ฐานผู้บริโภคหรือผู้ให้บริการ ซึ่ง K+ ทำธุรกิจด้านธนาคารที่มีฐาน “ผู้ใช้บริการธนาคาร” อยู่ 10 ล้านคน ก็เป็น good size ที่จะขยายต่อไป ซึ่ง best size ก็คือ 100 ล้านคน คือคนที่ทำแพลตฟอร์มแต่ละรายจะไม่มีใครที่มีฐานขนาดเล็กเลย เช่น เฟซบุ๊ก ในไทยฐานผู้ใช้บริการ 40 ล้านคน อาลีบาบาราว 1 พันล้านคน ดังนั้น แพลตฟอร์มของเคพลัส ในอนาคตจะขยับเป็น 20 ล้านคน 50 ล้านคน หรือ 100 ล้านคนได้ ซึ่งทีม machine learning ขนาด 200 คน ก็ถือเป็น good size แม้ตอนนี้บริษัทอาจรับเพิ่มเยอะ แต่หลังจากนั้นการรับคนคงจะเป็นไปตามธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม คนที่จะมาร่วมงานกับ KBTG ก็จะต้องมีสิ่งที่ตรงกันหลายอย่าง เช่น ประสบการณ์ความรู้ สิ่งที่อยากจะทำ การเข้ากันและอยู่ด้วยกันได้ คนที่มองภาพส่วนรวม เพราะเราต้องการ “สร้างทีม” หลายคนมาร่วมงานกับเราเพราะ mission ของ KBTG ตรงกับ passion (ความชอบ) ของเขา”

Q : คนกลุ่มนี้ผสมกับกลุ่มฟินเทคด้วย

KBTG เคยมีฟินเทคชื่อ “บริษัท บีคอน อินเตอร์เฟส” ซึ่งได้แปลงโฉมเป็นบริษัทออกแบบชื่อ “UX Design” ซึ่งแพลตฟอร์ฒ K+ ตัวใหม่ก็ได้ทีมนี้มาช่วยออกแบบโดยเป็นฝีมือคนไทยล้วน ๆ ตั้งแต่แนวคิด วิธีการ การพัฒนา การออกแบบและทดสอบ ก็หวังว่าจะมีต่างประเทศที่เห็นผลงาน และอยากจะลองใช้งาน หรือร่วมให้บริการบนแพลตฟอร์ม K+ และผู้ใช้บริการก็ไม่จำเป็นต้องเป็นกลุ่มคนในเมืองไทยเท่านั้นด้วย

“เรามองว่าในอนาคตอันใกล้ เราอาจเสนอขายสินค้าไทยให้ผู้บริโภคต่างประเทศ หรือการค้าข้ามพรมแดนได้ในเสี้ยววินาที สุดท้ายเมื่อมีแพลตฟอร์มที่อำนวยความสะดวกให้คนที่ไม่จำกัดว่าจะเป็นใคร ก็ควรจะต้องมีสินค้าดีส่งออกไปขายด้วย “วิธีการที่ง่ายพอ” โดยที่ K+ เป็นตัวกลางทำให้ง่ายและไม่ต้องผ่านหลายขั้นตอน นี่คือสิ่งที่ K+ มุ่งหวังและคาดหวังจะเห็นใน 3-5 ปีนี้”

Q : ทิศทาง KBTG ปีหน้าเป็นอย่างไร

จะเดินหน้าสร้างแพลตฟอร์ม K+ ขยายให้เป็นแบบเปิดมากขึ้น การทำบล็อกเชน และจะหาพันธมิตรใหม่ๆเข้ามาให้บริการบน K+ มากที่สุด รวมถึงเปลี่ยน mindset ของคนที่มองว่า K+ คือธนาคารกสิกรไทย เพราะเป้าหมายของเราอยากจะทำให้ K+ เป็นแพลตฟอร์มแบบเปิดที่ใคร ๆ ก็ใช้ได้ ดังนั้น งานใหญ่ ๆ ก็ยังอยู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ บล็อกเชน การหาวิธีการใหม่ ๆ ที่อำนวยความสะดวกให้ลูกค้า ซึ่งงานในส่วนนี้จะล้อไปกับ “คน” ที่ทำเรื่อง AI เข้ามาขับเคลื่อน รวมไปถึงภารกิจเพิ่มขีดความสามารถ ของ K+ ให้สามารถรองรับปริมาณคนที่เข้ามาใช้ K+ มากยิ่งขึ้น ทั้งการทำธุรกรรมทางการเงิน การขายของหรืออื่น ๆ โดยงบฯอยู่ที่ 1.3 พันล้านบาท ที่ใช้ขยายให้บริการเพิ่มถึง 10 เท่า เป็น 50,000 รายการต่อวินาที

Q : K+Market ต่างกับอีคอมเมิร์ซอื่น ๆ อย่างไร

เราไม่ได้มุ่งจะแข่งกับอีคอมเมิร์ซ หรือจะไปสู่อีคอมเมิร์ซรูปแบบเดิม แต่ K+ Market จะมุ่งอำนวยความสะดวก “ให้กับลูกค้า” เพราะมี AI ในมือที่สามารถจะหาของที่ลูกค้าต้องการ โดยจะเด้งให้ลูกค้าเห็น เพื่อให้เกิดการตัดสินใจซื้อที่ง่ายที่สุด ลูกค้าจะ “ไม่ต้องขยับตัว” ออกจากแพลตฟอร์มนี้เลย ดังนั้น อาจร่วมมือกับอีคอมเมิร์ซที่สามารถเอาสินค้ามาเสนอบนแพลตฟอร์มนี้ได้

“เราก็ต้องหาวิธีการที่จะทำให้ผู้บริโภคบนแพลตฟอร์ม K+ ได้ประโยชน์ สร้างมูลค่าให้ลูกค้ามากที่สุดได้อย่างไร และผู้ให้บริการที่อยู่บนแฟลตฟอร์มนี้ได้ประโยชน์มากที่สุด มีต้นทุนค่าใช้จ่ายแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด และเมื่อต่อเข้ากับแพลตฟอร์ม K+ ก็สามารถใช้ได้เลย”

นี่คือภารกิจของ KBTG ที่ต้องปฏิบัติการไปให้ถึง world class platform