“ไอแบงก์” ปลื้มผลดำเนินการฟื้นฟูฯปี 61 ดีขึ้น หลังเพิ่มทุนครบ18,100ล้านบาท คาดสิ้นปีนี้มีกำไรสุทธิ590ล้านบาท

“ไอแบงก์” ปลื้มผลดำเนินการฟื้นฟูฯ ปี 2561 ดีขึ้น หลังเพิ่มทุนครบ 18,100 ล้านบาท คาดสิ้นปีนี้มีกำไรสุทธิ 590 ล้านบาท พร้อมประกาศยุทธศาสตร์สร้างความเชื่อมั่น 7 ด้าน หวังเพิ่มจำนวนลูกค้าและเพิ่มประสิทธิภาพของสินเชื่อให้มีคุณภาพมากขึ้น

นายพรเลิศ ลัธธนันท์ ประธานกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เปิดเผยว่า นายวุฒิชัย สุระรัตน์ชัย เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2561 โดยที่ผ่านมามีประวัติการศึกษาจบปริญญาตรีบัญชีบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโท MBA มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายวุฒิชัยมีประสบการณ์ในแวดวงการเงินการธนาคารกว่า 30 ปี ซึ่งตำแหน่งสุดท้ายก่อนร่วมงานกับไอแบงก์ คือ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)

นายวุฒิชัย สุระรัตน์ชัย ผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) กล่าวว่า หลังจากที่พรบ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ได้รับการแก้ไขเพื่อให้กระทรวงการคลังสามารถถือหุ้นในธนาคารได้เกิน 49% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่าย โดยปัจจุบันไอแบงก์ได้เงินเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลังครบ จำนวน 18,100 ล้านบาท ส่งผลให้กระทรวงการคลังไปผู้ถือหุ้นเกือบ 100% รวมถึงผลดำเนินงการฟื้นฟูฐานะทางการเงินของไอแบงก์ดีขึ้นและเป็นที่น่าพอใจ โดยสิ้นปี 2561 คาดว่าจะมีกำไรจากการดำเนินงาน ประมาณ 600 ล้านบาท นอกจากนี้ทางไอแบงก์ได้ตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มเติมเพื่อรองรับลูกหนี้ที่อาจด้อยคุณภาพในอนาคต ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีกำไรสุทธิ ประมาณ 590 ล้านบาท ถือเป็นการสร้างกำไรในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

“สำหรับพอร์ตสินเชื่อของไอแบงก์ในปัจจุบัน อยู่ที่ 49,000 ล้านบาท คาดว่าภายในสิ้นปี 2561 พอร์ตสินเชื่อจะอยู่ที่ 50,000 ล้านบาท รวมถึงการเติบโตของสินเชื่อ อยู่ที่ 7,000-8,000 ล้านบาท นอกจากนี้หลังจากที่มีการเพิ่มทุนแล้ว ส่งผลให้สัดส่วนของเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ลดลง อยู่ที่ -1,000ล้านบาท จากเดิมที่มีสัดส่วน อยู่ที่ -20,000ล้านบาท คาดว่าภายในระยะเวลา 5 ปี จะทำให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) กลับมาเป็นบวกให้ได้” นายวุฒิชัย กล่าว

สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPF) ในปัจจุบันอยู่ที่ 9,200 ล้านบาท คิดเป็น 19-20% ลดลงจากเดิมอยู่ที่ 11,000 ล้านบาท เนื่องจากในช่วงปลายปี 2560 ทางไอแบงก์ได้รับการสนับสนุนในการเร่งโอนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPF) ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (IAM) คาดว่าภายในสิ้นปี 2561 จะทำให้ NPF ต่ำกว่า 9,000 ล้านบาท

นายวุฒิชัย กล่าวต่อว่า ในปี 2562 ไอแบงก์ตั้งเป้าหมายทำกำไรจากการดำเนินงาน อยู่ที่ 1,135 ล้านบาท และคาดว่าจะมีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 1,088 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ราว 80% รวมถึงได้ตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อ อยู่ที่ 12,500 ล้านบาท ส่วนการหาพันธมิตรคงต้องชะลอไปก่อน เนื่องจากผลดำเนินงานและเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ยังไม่เข้าเงื่อนไขตามที่กำหนด ในกรณีที่ผลดำเนินงานของไอแบงก์ดีขึ้นและมีกำไร จะมีการพิจารณาในการหาพันธมิตรกับกระทรวงการคลังอีกครั้ง

นอกจากนี้ทางไอแบงก์ได้จัดทำแผนเพื่อขยายธุรกิจเพิ่ม โดยมุ่งเน้นกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ และธุรกิจโรงพยาบาล เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตที่ดีและมีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) รวมถึงแผนธุรกิจดังกล่าวจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 7 ด้าน ที่คณะกรรมการธนาคารให้ไว้ ทั้ง 3 แผนหลัก ประกอบด้วย แผนพัฒนาธุรกิจเพื่อเพิ่มลูกค้า ที่ยังมุ่งเน้นลูกค้ามุสลิมตามพันธกิจของธนาคาร แผนพัฒนาองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดยเป็นแผนเพื่อปรับปรุงกระบวนการอำนวยสินเชื่อ เพื่อสนับสนุนการขยายพอร์ตและเพิ่มคุณภาพของสินทรัพย์ รวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพด้านปฏิบัติการสินเชื่อให้มี Check & Balance ลดกระบวนการซ้ำซ้อน เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างมีคุณภาพ รวมถึงการปรับแพลตฟอร์มทางด้านไอที เข้าสู่การให้บริการด้วยระบบดิจิทัล แบงก์กิ้ง ที่คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 และแผนพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มศักยภาพและความยั่งยืน ให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ พัฒนาด้านการขาย พัฒนาความรู้ด้าน Islamic Banking & Finance เพื่อทำให้บุคลากรมีความรู้ความสามารถในการทำงาน เพิ่มขึ้นและเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาการดำเนินงานมุ่งสู่เป้าหมายธนาคารให้สำเร็จ