ดอลลาร์แข็งค่า หลังเฟดมองอนาคตเศรษฐกิจสดใส เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 5-9 พฤศจิกายน 2561 ดัชนีดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ โดยเปิดตลาดในวันจันทร์ (5/11) ที่ระดับ 96.447 ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (2/11) จากระดับ 32.80/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ สู่ระดับ 32.83/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังจากที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือนตุลาคม ที่เพิ่มขึ้น 250,000 ตำแหน่ง ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 190,000 ตำแหน่ง โดยอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.7% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2512 และสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ในขณะเดียวกันตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 5 เซนต์ หรือ 0.2% ในเดือนตุลาคมหลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนกันยายนเมื่อเทียบรายปี ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานเพิ่มขึ้น 3.1% ซึ่ง 3.1% ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วดมงเพิ่มขึ้นสูงเหนือ 3% หลังจากที่สหรัฐ เผชิญภาวะเศรษฐกิจ ในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนให้ความสนใจต่อการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ โดยผลการเลือกตั้งระบุว่าพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐได้ตามที่ตลาดคาดไว้ ในขณะที่พรรคเดโมแครต
ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ซึ่งผลสรุปดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า เนื่องจากการที่เดโมแครตครองที่นั่งส่วนใหญ่ในสภาล่างนั้นเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะเกิดภาวะชะงักงันทางการเมือง และทำให้เกิดความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นอกจากนี้การประชุมนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 พฤศจิกายนนั้น คณะกรรมการลงเสียงเป็นเอกฉันท์ 9-0 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิมที่ระดับ 2.0-2.25% โดยระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง และภาคการใช้จ่ายครัวเรือนยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงอยู่ใกล้ระดับเป้าหมายที่ 2% สำหรับในระยะต่อไปนั้น คณะกรรมการคาดการณ์ว่าสภาพเศรษฐกิจสหรัฐจะสนับสนุนให้เฟดสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้ ทั้งนี้ ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทมีความเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 32.77-33.06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (9/11) ที่ระดับ 33.04/06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในส่วนของค่าเงินยูโรนั้น เปิดตลาดในวันจันทร์ (5/11) ที่ระดับ 1.1393/97 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/11) ที่ 1.1445/49 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจากมีรายงานว่า ธนาคารกลางยุโรป  (ECB) กำลังพิจารณาที่จะปล่อยกู้ระยะยาวรอบใหม่ให้กับธนาคารต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนภาคธนาคารยุโรป โดยการจัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำระยะยาว (LTRO) ของ ECB ในครั้งนี้จะเป็นรอบที่สอง หลังจากที่ได้ดำเนินการรอบแรกไปเมื่อปี 2554 ซึ่งเป็นช่วงที่ยุโรปเผชิญวิกฤตหนี้สาธารณะ นอกจากนี้นายปิแอร์ มอสโก
วิซี กรรมาธิการเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (EU) กล่าวว่า คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) อาจจะดำเนินมาตรการลงโทษอิตาลีในฐานะทางเลือกสุดท้าย ถ้าหากอิตาลีกับ EU ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ในเรื่องงบประมาณของอิตาลีได้ อย่างไรก็ตามอิตาลียังคงมีเวลาเหลืออยุ่อีก 1 สัปดาห์ในการแก้ไขแผนงบประมาณของตนเอง ก่อนจะถึงวันกำหนดในวันที่ 13 พ.ย.นี้ โดยล่าสุด EC คาดว่าเศรษฐกิจอิตาลีจะขยายตัวร้อยละ 1.2 ในปี 2562 ต่ำกว่าที่รัฐบาลอิตาลีคาดการณ์ไว้ที่ 1.5%  พร้อมทั้งระบุว่าการที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลของอิตาลีปรับตัวสูงขึ้นเป็นหนึ่งในปัจจัยหลัก อีกทั้งยังประมาณการณ์ว่าการขาดดุลงบประมาณของอิตาลีจะปรับสูงขึ้นสู่ 2.9% และ 3.1% เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2562  และ 2563 ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าระดับเกณฑ์ของ EU ที่ 3% และระดับที่รัฐบาลอิตาลีคาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.4% และ 2.1% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี นายจูเซปเป้ คอนเต้ นายกรัฐมนตรีอิตาลี และนายจิโอวานนี ตรีอา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแสดงความเห็นต่อการคาดการณ์ของ EC ว่าไม่น่าเชื่อถือและไม่สมบูรณ์ เนื่องจาก EC ประเมืนผลกระทบเชิงบวกของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการปฏิรูปต่าง ๆ ที่รัฐบาลกำลังริเริ่มต่ำเกินไป นอกจากนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของยุโรปลงเหลือ 2.3% จากระดับ 2.6% ที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ และคาดว่าเศรษฐกิจยุโรปจะขยายตัวเพียง 1.9% ในปีหน้าลดลงจากระดับที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 2.2% ในขณะที่
ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซน ปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 3 สู่ระดับ 52.0 ในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 26 เดือน และต่ำกว่าระดับ 53.2 ในเดือนกันยายน โดยดัชนี PMI ยังคงถูกกดดันจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงาน ขณะที่การส่งออกลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีครึ่ง ส่วนความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555 ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1341-1.1500 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (9/11) ที่ระดับ 1.1343/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนนั้น เปิดตลาดในวันจันทร์ (5/11) ที่ระดับ 113.21/24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/11) ที่ 112.83/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ หลังจากตัวเลขการจ้างงานออกมาแข็งแกร่ง ในขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า การใช้จ่ายในภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นปรับตัวลงในเดือน ก.ย.จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้อย่างมาก เป็นการบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวอย่างช้าๆ หลังจากที่เหตุแผ่นดินไหว และพายุไต้ฝุ่นกระทบการอุปโภคบริโภค ทั้งนี้การใช้จ่ายในภาคครัวเรือนลดลง 1.6% ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าอาจจะเพิ่มขึ้น 1.6% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 2.8% ในเดือน ส.ค. โดยญี่ปุ่นจะประกาศข้อมูลจีดีพีไตรมาส 3 ในวันที่ 14 พ.ย.นี้ ในขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัว 3.0% ในไตรมาส 2 เนื่องจากการใช้จ่ายด้านทุนเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ยอดส่งออกที่ชะลอตัวและการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ซบเซาอาจกระทบจีดีพีไตรมาส 1 ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยน
เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 112.95-114.09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (9/11) ที่ระดับ 113.95/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ