
คอลัมน์ Smart SMEs โดย สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ ธนาคารกสิกรไทย
จากพลังของโซเชียลมีเดียและการแผ่ขยายของสังคมเมือง ทำให้ผู้คนในยุคนี้ใส่ใจในภาพลักษณ์ของตัวเอง จึงให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองกันมากขึ้น และกล้าที่จะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ดีเพื่อเสริมแต่งบุคลิกให้ดูดียิ่งขึ้น นั่นเป็นสาเหตุให้ตลาดเครื่องสำอางในประเทศไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 2.51 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 1.68 แสนล้านบาท เติบโต 7.8%
ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (skincare) ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนถึง 46.8% ส่วนการส่งออกเครื่องสำอางไทยไปยังตลาดโลกมีมูลค่าประมาณ 0.83 แสนล้านบาท โดยมีตลาดส่งออกหลักที่สำคัญได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น และจีน
ซึ่งผมมองว่าภาพรวมของตลาดเครื่องสำอางในไทยยังคงมีแนวโน้มสดใส แต่จะเพิ่มความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพให้เข้ามาลงเล่นในสนามนี้ โดยสามารถแบ่งกลุ่มตลาดที่น่าสนใจได้ดังนี้
1. ตลาดเครื่องสำอางสำหรับเด็ก
ปัจจุบันพ่อแม่ผู้ปกครองยุคนี้เริ่มเปิดกว้างต่อการใช้เครื่องสำอางเพื่อดูแลและเสริมบุคลิกภาพในกลุ่มเด็กมากขึ้น ทั้งเครื่องสำอางสำหรับดูแลผิว ดูแลทำความสะอาดร่างกาย และเครื่องสำอางที่ใช้แต่งหน้าในช่วงที่เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งเครื่องสำอางที่ใช้ต้องมีความปลอดภัยและไม่เกิดการแพ้ เนื่องจากผิวเด็กมีความบอบบางและไวต่อเครื่องสำอาง
2. ตลาดเครื่องสำอางสำหรับผู้ชาย
เนื่องจากผู้ชายยุคใหม่หันมาใส่ใจตัวเองเพื่อเสริมบุคลิกภาพ ขณะที่ลักษณะผิวของผู้ชายก็ไม่เหมือนกับผู้หญิง จึงไม่เหมาะที่จะใช้เครื่องสำอางของผู้หญิง โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและดูแลเส้นผม น่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวและน้ำหอมที่มีการใช้อยู่แล้ว
3. ตลาดผู้สูงอายุ
อย่างที่ทราบกันว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวนประมาณ 10.2 ล้านคน หรือ 15.4% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งผู้สูงอายุบางกลุ่มมีกำลังซื้อและมีความต้องการสินค้าประเภทเครื่องสำอางเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต รวมถึงการเสริมบุคลิกภาพที่ดี ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ต่อต้านริ้วรอยให้ดูอ่อนกว่าวัย และผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ได้รับความนิยมอย่างมาก
4. ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ
รู้หรือไม่ว่าเครื่องสำอางไทยเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่ว่าจะซื้อไปใช้เอง เป็นของฝาก หรือจำหน่ายต่อ เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องสำอางของผู้ผลิตชั้นนำของโลก ทำให้สินค้ามีราคาไม่สูงเมื่อเทียบกับที่ถูกส่งไปจำหน่ายในต่างประเทศ และไทยยังมีสินค้าเครื่องสำอางที่ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ ทั้งพืชและสมุนไพรที่มีเอกลักษณ์ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าประเภทเครื่องสำอางและครีมบำรุงผิว
5. ตลาดประเทศมุสลิม
ในปี 2558 ตลาดเครื่องสำอางในกลุ่มประเทศนี้มีมูลค่าสูงถึง 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 8.1 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2564 หรือเติบโตเฉลี่ย 7% ต่อปี โดยตลาดที่มีศักยภาพ ได้แก่ อินเดีย รัสเซีย อินโดนีเซีย ตุรกี มาเลเซีย และบังกลาเทศ ตามลำดับ ซึ่งบางประเทศมีข้อตกลงด้านการค้ากับไทย ทำให้ไทยมีความได้เปรียบทางด้านภาษีนำเข้า โดยประเภทของเครื่องสำอางที่น่าสนใจ ได้แก่ เครื่องสำอางสำหรับผู้ชาย เช่นผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมและเครื่องสำอางสำหรับเด็ก เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและดูแลผิว
ถึงแม้ตลาดเครื่องสำอางจะมีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย แต่ก็มีการแข่งขันสูง ดังนั้นผู้ประกอบการควรเน้นตลาดที่เฉพาะเจาะจง เช่น เครื่องสำอางที่ผลิตจากสมุนไพรหรือสารสกัดจากธรรมชาติหรือออร์แกนิกที่กำลังได้รับความนิยมทั่วโลก
โดยเฉพาะเครื่องสำอางที่จับตลาดกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ สำหรับปัจจัยที่จะทำให้ธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จก็คือ การรักษาคุณภาพและมาตรฐานให้คงที่ จึงจะทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นและบอกต่อ ๆ กันนั่นเอง