มองผ่านเลนส์ “คนตลาดทุน” “ธุรกิจหลักทรัพย์” สปีดช้ากว่าเทคโนโลยี

ในงานโครงการ “FinTech Challenge 2018 : The Discovery” ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 3 โดยสมาคมฟินเทคประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) ซึ่งเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา เป็นวันประกวดรอบชิงชนะเลิศของผู้ประกอบการธุรกิจฟินเทคสตาร์ตอัพหน้าใหม่ 10 ทีมสุดท้าย แต่ก่อนจะรู้ผลการแข่งขัน ก.ล.ต.ได้จัดเสวนาเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่นำพาไปสู่การเปิดโลกของตลาดทุน โดยมี นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวเปิดงานดังกล่าว

นายรพีกล่าวว่า แม้วันนี้ตลาดทุนไทยมีขนาดใหญ่มาก โดยดูจากมูลค่าราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) สูงถึง 110/140% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขณะที่มูลค่าการซื้อขายหุ้นเฉลี่ย 70,00 -100,000 บาท/วัน ส่วนคนไทยที่เข้าถึงตลาดทุนมีน้อยมากประมาณ 3-4 ล้านคน ซึ่งน้อยมากจากจำนวนคนไทยกว่า 60 ล้านคน แต่เชื่อว่าเทคโนโลยีที่เข้ามาจะช่วยเปิดศักราชของการเข้าถึงตลาดทุนสำหรับพวกนักลงทุนได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ เพราะหากประชาชนสามารถบริหารจัดการเงินลงทุนของตัวเองได้ สร้างผลตอบแทนที่มีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้ทุกคนเกิด financial freedom (อิสรภาพทางการเงิน) ทุกคนสามารถใช้ตลาดทุนเพื่อสร้าง wealth (ความมั่งคั่ง) โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งรัฐอย่างเดียว และสร้างคุณภาพชีวิตในบั้นปลายได้

“ผมว่าเป็นโจทย์สำคัญ คีย์ของเรื่องพวกนี้ คนที่มีไอเดียพัฒนาโปรแกรมเหล่านี้ สามารถแก้เพนพอยต์ และหากทำให้คนติดใจระบบที่พัฒนานี้ขึ้นมา ถ้าทำได้จริงมันอาจจะเห็นกว้างไกลกว่านั้นเยอะที่คนจะเข้าสู่ตลาดทุน”

ส่วนอีกด้านคือ ตลาดคริปโทเคอร์เรนซี และไอซีโอ (สินทรัพย์ดิจิทัล) ที่ขณะนี้ได้ผ่านจุดที่เห่อกันแบบบ้าระห่ำมาแล้ว คนเหล่านี้ได้ประสบการณ์ทั้งด้านดีและเลวมา ซึ่งก็เป็นกระบวนการพัฒนาของตลาด ทั้งผู้เล่น ผู้ประกอบการ และผู้ลงทุน ซึ่งจะเห็นว่าตลาดนี้พัฒนาการจาก “เด็ก” เข้ามาสู่ “วัยรุ่น” และอาจก้าวกระโดดไปสู่ความเป็น “ผู้ใหญ่” ในเวลาสั้น ๆ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำให้ตลาดนี้มีความยั่งยืนและเติบโตต่อไปในอนาคต ดังนั้น ตลาดนี้จะต้องมีการเรียนรู้อีกเยอะมากทั้งด้านผู้ประกอบการ นักลงทุน และทุกคนที่มีส่วนร่วม โดยเฉพาะผู้กำกับดูแล คือ ก.ล.ต.จำเป็นต้องปรับตัวค่อนข้างมากและรวดเร็ว

“เราต้องมี mindset มีความเข้าใจสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในตลาด มันจะปรับเปลี่ยน landscape ของทุกเรื่องได้อย่างไร ทั้งพฤติกรรมผู้ลงทุน และผู้ประกอบการ ผู้เล่นใหม่ ๆ แล้วก็กลับมาทำ self assessment ว่าสิ่งที่เรากำกับดูแลอยู่จะต้องปรับเปลี่ยนไปข้างหน้าอย่างไร ซึ่งเป็นอะไรที่ท้าทาย ก.ล.ต.มาก และเราก็เป็นประเทศแรกในโลกที่เข้ามากำกับดูแลเรื่องนี้ จึงต้องก้าวเข้ามาทั้งด้านกำกับดูแลและด้านสนับสนุน ความยากคือ การหาจุดสมดุลทั้งสองด้าน และทำอย่างไรในการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่จะพัฒนาทำให้ตลาดยั่งยืนได้ และมีการปรับเปลี่ยนให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปเร็วมาก”

อีกหัวข้อที่น่าสนใจ คือ Digital Transformation in the Thai Capital Market โดย นายธีรนันท์ ศรีหงส์ ที่ปรึกษา ก.ล.ต. ชี้จุดที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมาก แต่ความเร็วของการก้าวให้ทันเทคโนโลยีของตลาดทุนไทยยังค่อนข้างช้า และการก้าวเข้ามาของผู้ประกอบการฟินเทคก็มีน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล และหากไม่แก้ไขอย่างเร่งด่วน จะสะสมความอ่อนแอไปเรื่อย ๆ และท้ายที่สุดอาจไม่สามารถรับมือได้ทันท่วงทีหากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน พร้อมเสนอให้ทุกภาคส่วนเกิดความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจกับฟินเทค

นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวว่า ฝั่งธุรกิจหลักทรัพย์ลูกค้าจะต้องได้รับบริการที่เป็นเชิงลึกมากขึ้น มุ่งเน้นผลตอบแทนเป็นหลัก รูปแบบธุรกิจหลักทรัพย์ก็จะต้องปรับเปลี่ยนให้เท่าทันความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปด้วย และมุ่งไปสู่อีกมิติที่เป็น specialization คือ แต่ละคนจะเริ่มมีรูปแบบบริการที่แตกต่าง วิธีแนะนำหรือการนำเสนอแตกต่างกันไป จะเกิดขึ้นจากการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับรูปแบบธุรกิจตัวเอง ซึ่งถ้าบริษัทหลักทรัพย์ยังทำธุรกิจรูปแบบเดิม ๆ ก็จะไม่สามารถอยู่ได้

พร้อมกันนี้ยังได้ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องค่าคอมมิชชั่นซื้อขายหลักทรัพย์ 0% ของโบรกเกอร์ว่า แรงกดดันทางด้านรายได้ค่าคอมฯมีมากทีเดียว จริง ๆ ธุรกิจหลักทรัพย์ค่อนข้างเปิดจนไม่รู้จะเปิดอย่างไร เพียงแต่ว่ากระบวนการที่จะไปมันไม่ง่าย เพราะพัวพันกับเงินลงทุนของคน ทำให้ทุกคนเกร็งเหมือนกัน และต้องมีความระมัดระวัง สิ่งที่จะบอกคือ 0% ไม่ใช่ประเด็น เพราะไม่ได้ตอบโจทย์ลูกค้าได้ จึงต้องมาหากระบวนการที่ทำให้ลูกค้าลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถลดความเสี่ยงได้และรับความผันผวนได้ดีขึ้น ซึ่งตรงนี้ต้องใช้คนทำทั้งนั้น แต่เครื่อง (โรบอตอัลกอริทึ่ม) จะให้ทำง่ายขึ้นและเร็วขึ้น อย่างการเทรดผ่านอินเทอร์เน็ตก็จะมีค่าคอมฯที่ถูกกว่าเทรดมาร์เก็ตติ้ง

ต่อไปถ้ามีฟินเทคเข้ามาให้บริการ ก็ยิ่งทำให้การหารายได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีก และต่อไปรายได้จะเป็นรูปแบบค่าธรรมเนียมแทนแล้ว จะไม่ใช่เป็นค่าคอมมิชชั่น การปรับตัวของโบรกเกอร์ก็จะเห็นรูปแบบที่เน้นให้บริการซื้อขายรวดเร็วสำหรับลูกค้าเทรดดิ้ง กับโบรกเกอร์ที่เน้น wealth ให้บริการแนะนำจัดพอร์ตลงทุน ดูแลความเสี่ยงให้ ซึ่งรายได้ก็จะคิดเป็นค่าธรรมเนียมตามขนาดของพอร์ต เป็นต้น ซึ่งโบรกเกอร์เหล่านี้ก็ต้องนำเทคโนโลยีมาให้บริการผ่านโปรแกรมต่าง ๆ ที่พัฒนา เพราะฉะนั้น ส่วนนี้ก็จะมีความแตกต่างกันไปเรื่อย ๆ

“อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเกิดขึ้น คือ สร้างโครงสร้างพื้นฐานกลางให้กับตลาดทุน เพื่อให้ลดต้นทุนที่จะต้องลงทุน เพราะถ้าทุกโบรกเกอร์ลงทุนในเรื่องเดียวกันหมด ต้นทุนของอุตสาหกรรมก็สูง ในที่สุดลูกค้าก็ต้องจ่ายแพง เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็น ตลท. หรือองค์กรอื่น ๆ สามารถมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานกลาง ต้นทุนก็จะต่ำและยังสามารถต่อยอดได้ ก็จะมีส่วนช่วยในการให้โบรกเกอร์พัฒนาได้เร็วขึ้น เช่น เนชั่นแนล ไอดี จะทำให้การ verified (ยืนยันตัวตน) รวดเร็วขึ้น ต่อไปคนก็จะเข้าถึงการเทรดดิ้งได้ง่ายขึ้นเยอะขึ้น แต่นักลงทุนที่ยังไม่มีความรู้การลงทุนก็ต้องลงทุนผ่านกองทุนรวม” นางภัทธีรากล่าว

วันนี้โลกของธุรกิจหลักทรัพย์ไทยหมุนช้า โดยยังเห็นภาพขาข้างหนึ่งจมปลักอยู่ในวังวนแข่งค่าคอมมิชชั่น 0% ฉุดรั้งขาอีกข้างให้หมุนไม่ทันโลกเทคโนโลยี

แต่หากฟินเทคพาเหรดเข้ามาคลุกวงในเหมือนธุรกิจแบงก์ วันนั้นคงเห็นซากของโบรกเกอร์ไทยแน่นอน