ปมบาทแข็งจุกอก คลัง-ธปท. กดดัน “เศรษฐกิจ-ส่งออก”

ค่าเงินบาทที่แข็งค่านำหน้าเงินสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย มักจะเป็นปัญหาจุกทั้งฝั่งรัฐบาล แบงก์ชาติ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องการค้าระหว่างประเทศอยู่ทุกครา

ยิ่งในช่วงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ทิศทางเงินบาทที่แข็งค่ายืนระดับ 33.00 บาทต้น ๆ ต่อดอลลาร์สหรัฐเสียงร้องของผู้ส่งออกก็ดังลั่นขึ้นผ่านทางตัวเลขประเมินของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่บอกว่า ช่วงต้นปีนี้ถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาทแข็งขึ้นราว 7-8% กระทบต่อมูลค่าส่งออกสูญ 4-5 หมื่นล้านบาท

ปีนี้เป็นปีแรกที่ภาคส่งออกของไทยสามารถเติบโตเป็นหน้าเป็นตาของเศรษฐกิจได้ โดยช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ส่งออกไทยเติบโต 7% และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าปีนี้ทั้งปีจะขยายตัวได้ 5% ทำให้รัฐบาลและหลาย ๆ ฝ่ายเศรษฐกิจ ต่างคาดหวังว่า ส่งออกจะกลับมาเป็นแรงส่งให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมเศรษฐกิจในประเทศ (จีดีพี) เติบโตได้ดีกว่าปีก่อน ๆ ที่ส่งออกติดลบหลายปี โดยสภาพัฒน์คาดหวังปี 2560 จีดีพีโต 3.3-3.8% ส่วน ธปท. คาดเติบโต 3.5% ซึ่งทำให้รัฐบาลและฝ่ายเศรษฐกิจรู้สึกไปกันว่า เศรษฐกิจสดชื่น

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ – วิรไท สันติประภพ

ขณะที่ท่าทีของแบงก์ชาติ รอบการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2560 เพิ่มระดับการติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดแบบรายวัน เพราะมีความวิตกกังวลมากต่อค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับหลาย ๆ สกุลในภูมิภาคเอเชีย อย่างไรก็ตาม มติ กนง.ก็ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ต่อไป ซึ่งเป็นอัตราที่ผ่อนปรนเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

แต่ในวันเดียวกัน ก็มีกระแสคนในแวดวงการเงิน พูดกันไปในทางที่ว่า ขุนคลัง “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้พูดคุยกับ “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ภายหลังผลประชุม กนง.ออกมา โดยมีการซักถามมติคงอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ และกังวลว่า จะยิ่งยั่วยวนใจให้ต่างชาติขนเงินมาเก็งกำไรต่อเนื่อง

ฝั่งห้องค้าเงิน ต่างชาติ ก็ระแวดระวังว่า ธปท.จะมีมาตรการใดในการเข้ามาดูแลค่าเงินบาทที่แข็งเร็วนี้หรือไม่ เพราะมีกระแสว่า ผู้ว่า ธปท.จะมีการแถลงข่าวในวันถัดไป (17 ส.ค.)

ปรากฏว่า “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาแถลงข่าวตามนัด โดยยืนยันว่า แม้สัญญาณการเข้ามาเก็งกำไรในระยะสั้น ๆ ยังคงอยู่ แต่ก็ไม่พบว่ามีมากกว่าปกติ หากเทียบกับช่วง 2-3เดือนก่อนหน้านี้ เพราะการเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้น ๆ ในตลาดหุ้นและตลาดบอนด์มีสัดส่วนเพียง 10% ของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเท่านั้น

“การแข็งค่าของค่าเงินบาทในขณะนี้ไม่ได้เป็นการแข็งค่านำโด่งเพื่อนบ้านนัก เพราะการมายืนแข็งค่าของเงินบาทที่กว่า 7% ห่างกับสกุลอื่น ๆ เพียงหลักจุดทศนิยมเท่านั้น แม้ว่าค่าเงินบาทของไทยจะขึ้นอันดับหนึ่งของภูมิภาคก็ตาม”

พร้อมทั้งแจกแจงเหตุผล 4 ประการ ที่ควบคุมได้ยาก คือ 1) ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายของสหรัฐลดต่ำลง ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐกลับมาอ่อนค่า 2) ไทยยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างสูง จากการส่งออกที่ขยายตัว แต่ในระยะต่อไป ไทยน่าจะเกินดุลน้อยลงในช่วงสิ้นปีนี้ โดยคาดว่าจะลดเหลือ 9% ของจีดีพี เทียบกับปีก่อนที่เกินดุลถึง 12% ของจีดีพี เนื่องจากครึ่งปีหลังน่าจะเห็นการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้นเพื่อเข้ามาลงทุนในประเทศ 3) ในช่วงปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมามีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) บางรายการเพิ่มขึ้น และ 4) ค่าเงินในบางสกุล เช่น วอนของเกาหลี ที่มีปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ตึงเครียดขึ้นในคาบสมุทรเกาหลี

ส่วนความจำเป็นในการออกเครื่องไม้เครื่องมือเพิ่มเติม เพื่อสกัดเงินไหลเข้าหรือไม่นั้น ผู้ว่า ธปท.ตอบว่า “ธปท.ก็มีเครื่องมือต่าง ๆ พร้อมอยู่แล้ว และมีเครื่องมือที่หลากหลาย ที่จะสามารถผสมผสานให้เกิดความเหมาะสม หากพบว่ามีสัญญาณที่ผิดปกติ ซึ่งขณะนี้ก็ไม่สามารถตอบได้ ว่าจะใช้เครื่องมืออะไรต่อไปอีกหลังจากที่ผ่านมา ธปท.มีการลดวงเงินการออกบอนด์ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เพื่อลดการเข้ามาเก็งกำไรในตลาดเงินแล้ว เพราะไม่ต้องการให้ตลาดคาดเดาล่วงหน้า”

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการพูดคุยกับ ธปท.ว่า ก็มีการพูดคุยกัน แต่การดูแลสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่า ถือเป็นหน้าที่ ธปท.ที่ดูแลนโยบายการเงิน ซึ่งต้องถาม ธปท.ว่า มาตรการที่ทำไป อย่างการลดวงเงินออกพันธบัตรระยะสั้นได้ผลเพียงพอหรือไม่

“ทางเราก็ทำดีที่สุดในสิ่งที่เราทำได้ เกี่ยวกับนโยบายการคลัง” นายอภิศักดิ์กล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์บาทแข็ง หลัก ๆ มาจากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า กับการส่งออกของเราที่ค่อนข้างดี แต่ดูแนวโน้มที่เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องแล้วก็ค่อนข้างน่ากังวล ซึ่งการที่ ธปท.ใช้วิธีการลดการออกพันธบัตรระยะสั้น ช่วยจำกัดแหล่งที่ต่างชาติจะนำเงินเข้ามาพักได้บางส่วน

ขณะที่หาก ธปท.ใช้วิธีการลดดอกเบี้ยก็น่าจะช่วยลดแรงจูงใจนักลงทุนต่างชาติที่จะนำเงินเข้ามาพักได้ เนื่องจากปัจจุบันประเทศในภูมิภาคหลายประเทศก็ใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน อาทิ เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น

นางสาวศิรินารถ อมรธรรม ผู้อำนวยการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี-16 ส.ค. 2560 เงินทุนต่างชาติไหลเข้าตราสารหนี้ทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 141,697 ล้านบาท ทำให้ยอดถือครองตราสารหนี้โดยรวมของต่างชาติมีมูลค่า 769,681 ล้านบาท ซึ่งแยกเป็นพันธบัตรระยะสั้น (ส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรแบงก์ชาติ และตั๋วเงินคลัง) ประมาณ 9.9 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นพันบัตรระยะยาว เช่น พันธบัตรรัฐบาล สะท้อนว่าการเก็งกำไรพันธบัตรระยะสั้นไม่ได้อยู่ในสัดส่วนที่สูงนัก ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (ยีลด์) ระยะสั้น อายุ 2 ปี ปรับตัวลดลงจากต้นปีที่ 1.69% มาอยู่ที่ล่าสุด (16 ส.ค.) ราว 1.49% และยีลด์พันธบัตรระยะยาว อายุ 10 ปี ลดลงจากต้นปีที่ 2.67% มาอยู่ที่ 2.51%

ส่วนนายบุญเพ็ง สันติวัฒนธรรม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แม้ยอดขายส่งออกยังไม่ตก แต่รูปแบบสั่งซื้อเปลี่ยนไป ทางผู้ประกอบการต้องใช้วิธีซื้อขายแบบระยะสั้น (Short Term) มากขึ้น แต่ถ้าในภาวะค่าเงินบาทผันผวนขึ้น-ลง ภาคเอกชนก็จะประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ “ยาก”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การผันผวนของค่าเงินบาทเกิดขึ้นอยู่จนเหมือนเป็นภาวะทั่วไป และผู้ส่งออกและนำเข้าก็สามารถบริหารความเสี่ยงได้อยู่แล้ว


เพียงแต่ว่า สิ่งที่รัฐบาลห่วงคือ ภาพส่งออกที่กำลังดูเติบโตสวยงาม หากจะต้องถูก “ค่าเงินบาท” แข็งค่า มากดทับ “เศรษฐกิจ” ที่ควรไปต่ออย่างสดใส ก็คงเสมือนภาพปราสาททรายพังทลายไปต่อหน้าต่อตาได้