เอสเอ็มอียังแผ่ว กดกำไร “LIT” ไตรมาส3 หด แต่ยังมั่นใจผลงานตามแผน โปรเจกต์ใหญ่จ่อเพียบ

นายสมพล เอกธีรจิตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีซ อิท จำกัด (มหาชน) (LIT) ผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อธุรกิจเพื่อ SMEs ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนทางเลือกนอกภาคสถาบันการเงินประเภท Non-Bank เปิดเผยผลการดำเนินงานของบริษัทฯในไตรมาส 3/61 มีรายได้รวม 120.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.33 ล้านบาท หรือ 6.49% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนมีรายได้รวม 112.98 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 38.44 ล้านบาท ลดลง 0.7 ล้านบาท หรือ 1.86% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 39.17 ล้านบาท ในขณะที่พอร์ตลูกหนี้สินเชื่ออยู่ที่ 2,330 ล้านบาท และมียอดปล่อยสินเชื่อถึง 8,037 ล้านบาท

“โดยปกติไตรมาส 3 จะเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของปี เนื่องจากการเร่งการประมูลและการเบิกจ่ายของหน่วยงานภาครัฐ อย่างไรก็ตาม อานิสงส์ของเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ดีขึ้น ยังไม่ส่งผลในเชิงบวกโดยตรงแก่ผู้ประกอบการ SMEs มากนัก ทำให้ยังไม่สามารถแข่งขันและสร้างการเติบโตได้เหมือนเช่นปีที่ผ่านมา แต่บริษัทฯยังเชื่อมั่นว่าบริษัทจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะเศรษฐกิจได้” นายสมพลกล่าว

สำหรับผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรก บริษัทฯ มีรายได้รวม 336.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.94 ล้านบาท หรือ 8.70% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนมีรายได้รวม 309.64 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 114.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.60 ล้านบาท หรือ 4.18% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 110.20 ล้านบาทโดยล่าสุด สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ในระดับ 4.87% และบริษัทฯ มีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในไตรมาสที่ 3/2561 เป็น 6.03% ของยอดลูกหนี้คงเหลือ

ทั้งนี้ เพื่อรองรับมาตรฐานการบัญชี TFRS9 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 และเพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน สำหรับไตรมาสสุดท้ายของปีนี้บริษัทจะยังรักษาการเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยคณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติโครงการใหญ่ที่ทำงานให้กับภาครัฐ อาทิ โครงการปรับปรุงระบบวิทยุสื่อสารสู่ระบบดิจิตอล โครงการ USO Net โครงการพัฒนาระบบ Smart Metro Grid และโครงการบริการระบบเครื่องถอนเงินอัตโนมัติในระบบ ATM Pool ฯลฯ

นายสมพลกล่าวว่า บริษัทฯยังคงเดินหน้าตามแผนงาน 3 ปี (2561-253) โดยเตรียมย้ายหลักทรัพย์จากตลาด mai ไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และรักษาการเติบโตของรายได้เฉลี่ยต่อปีให้ไม่ต่ำกว่า 20% ควบคู่กับการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยจะดําเนินการจัดอันดับเครดิต (Credit Rating) ให้อยู่ในระดับ Investment Grade เพื่อให้บริษัทมีต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสมและได้เปรียบเชิงแข่งขัน

ที่มา มติชนออนไลน์