“TMB” แนะทางออกช่วย SME หลุดพ้น 7 หลุมพราง

ทีเอ็มบีเผย 7 พฤติกรรมเสี่ยง SME พร้อมชี้ทางออก แนะพัฒนาวินัยการทำธุรกิจ-แยกกระเป๋าเงินธุรกิจ/เงินส่วนตัว-เน้นทำมาร์เก็ตติ้งเพิ่ม ฯลฯ หวังส่ง SME ไปถึงฝั่งฝัน

นางสาวชมภูนุช ปฐมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า ทีเอ็มบี ได้ทำการศึกษาวิจัยพฤติกรรมการดำเนินธุรกิจของ SME ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังต้องพัฒนาเรื่องวินัยในการทำธุรกิจ รวมถึงการแยกกระเป๋าเงินธุรกิจกับกระเป๋าเงินส่วนตัวออกจากกัน การทุ่มเทเวลาให้การทำมาร์เก็ตติ้งมากขึ้น และการทำธุรกิจโดยมีแผนธุรกิจกำกับทิศทาง นอกจากนี้ปัญหาของ SME ไทย คือ การทำธุรกิจสไตล์ One Man Show โดยไร้ทายาทสืบทอด มักมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวไม่ทันต่อสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจในระยะยาว

“สิ่งที่ ทีเอ็มบี ให้ความสำคัญมาโดยตลอด คือ การเข้าใจและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า (Need base) เพื่อจะสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้ง่าย สะดวก (Simple and Easy) ทำให้ ทีเอ็มบี มีการศึกษาพฤติกรรมของลูกค้ากลุ่ม SME อย่างลึกซึ้ง เพื่อเป็นแนวทางในการให้คำปรึกษา และสนับสนุนให้ลูกค้า SME สามารถเติบโต “ได้มากกว่า” (Get MORE with TMB) อย่างยั่งยืน” นางสาวชมภูนุช กล่าว

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีธุรกิจเกิดใหม่กว่า 70,000 รายต่อปี แต่มีเพียง 50% เท่านั้น ที่ก้าวผ่านปีแรกไปได้ และเมื่อผ่านปีแรกไปได้จะมีธุรกิจอีกราว 10% ที่ไปไม่ถึงฝัน และต้องปิดตัวไปอย่างน่าเสียดาย จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่นำไปสู่การศึกษาวิจัยพฤติกรรมการดำเนินธุรกิจของ SME ไทย

โดยจากการสำรวจทางออนไลน์กับกลุ่มผู้ประกอบการ SME ไทยทั่วประเทศ ที่มีรายได้เฉลี่ยอยู่ระหว่าง 1-50 ล้านบาทต่อปี แบบคละประเภทธุรกิจ คละอุตสาหกรรม จำนวน 200 คน ที่ทีเอ็มบีทำร่วมกับบริษัทวิจัยชั้นนำที่ได้รับการยอมรับ ได้แบ่งวงจรชีวิตของ SME ออกเป็น 3 ช่วงสำคัญ คือ ช่วงเริ่มต้น (Start) ซึ่งเงินทุนและแผนธุรกิจถือเป็นปัจจัยหลักในการตั้งต้น แจ้งเกิดธุรกิจใหม่ ช่วงพัฒนาและช่วงอิ่มตัว (Growth & Mature) หากบริหารกำไรและเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมองหาตลาดใหม่เสมอ ธุรกิจย่อมจะเจริญเติบโตถึงขีดสุด แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ต้องเผชิญกับจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ที่จะทำให้ธุรกิจขยายตัวต่อ ทรงตัว หรือถดถอย ถือเป็นความท้าทายที่ SME จะต้องหันมาใส่ใจรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และเลือกเส้นทางที่จะไปต่ออย่างจริงจัง

ทั้งนี้ ทีเอ็มบี ได้วิเคราะห์และนำเสนอเป็นบทสรุป ‘7 หลุมพรางของ SME ที่ทำให้ธุรกิจไม่ไปถึงฝั่งฝัน’ ซึ่งสะท้อนพฤติกรรมการดำเนินธุรกิจของ SME ไทยในปัจจุบัน ดังนี้

1. ใช้เงินทุนโดยไม่วางแผน โดย 84% ของ SME ใช้เงินเก็บส่วนตัวหรือของครอบครัวมาใช้เป็นเงินตั้งต้นธุรกิจ หากธุรกิจผิดพลาด ตนเองและครอบครัวย่อมจะได้รับผลกระทบทันที ที่น่าสนใจคือ SME ราว 27% เลือกใช้เงินทุนตั้งต้นธุรกิจจากการใช้บริการสินเชื่อและการกดเงินสดจากบัตรเครดิต โดยยอมแบกรับกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินความคุ้มค่าระหว่างดอกเบี้ยกับกำไรของธุรกิจ

2. ทำธุรกิจโดยไม่ใช้แผนธุรกิจ การวางแผนธุรกิจเป็นสิ่งที่จะทำให้ SME เติบโตอย่างยั่งยืน แต่ SME มากถึง 72% ยอมรับว่าถึงจะมีแผนธุรกิจหรือไม่มีก็ตาม ก็ไม่เคยทำตามแผน เนื่องจากหมดเวลาไปกับการแก้ปัญหารายวัน และปัญหาเฉพาะหน้า

3. ‘กระเป๋าธุรกิจ’ และ ‘กระเป๋าส่วนตัว’ คือกระเป๋าเดียวกัน พบว่า 67% ของ SME มีพฤติกรรมการใช้ ‘เงินธุรกิจ’ กับ ‘เงินส่วนตัว’ ปนกัน อาทิ ให้คู่ค้าโอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัวโดยจำไม่ได้ว่าเงินของส่วนตัวมีอยู่เท่าไร ไม่เคยตั้งเงินเดือนให้ตัวเอง เมื่อต้องการใช้เงินส่วนตัวหรือครอบครัว มักจะเอาเงินได้จากบริษัทออกมาจ่าย และหยิบเงินสดจากเครื่องเก็บเงินหรือลิ้นชักออกมาจับจ่ายส่วนตัว โดยไม่ได้จดค่าใช้จ่ายไว้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการดำเนินธุรกิจให้เติบโตในระยะยาว

4. ยอดขายสูง…แต่อาจไม่กำไร การทราบต้นทุนที่ถูกต้องและครบถ้วน เป็นเครื่องการันตีกำไรของธุรกิจ แต่ 37% ของ SME เคยทำพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการขายของขาดทุน ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน อาทิ 14% ลดราคาสินค้าโดยไม่ได้พิจารณาถึงต้นทุน 14% ลืมใส่เงินเดือนตัวเองลงไปในต้นทุนสินค้า และ 9% คิดเพียงว่าแค่ขายสินค้าให้มากกว่าราคาวัตถุดิบ ก็เท่ากับได้กำไร

5. ทุ่มเวลากับการผลิต จนไม่มีเวลาให้การตลาด การดำเนินธุรกิจของ SME แบ่งเป็น 4 ส่วนงาน คือ 1.) กระบวนการผลิต ได้แก่ การจัดหาวัตถุดิบ การบริหารสต็อคสินค้า การสรรหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเสริมทัพ การผลิตและการบรรจุ 2.) งานสำนักงาน ได้แก่ การทำบัญชี การเงินและภาษี การวิเคราะห์ยอดรายรับ-รายจ่าย การบริหารพนักงานและสวัสดิการ การทำเอกสารซื้อ-ขาย 3.) การขาย การเฝ้าหน้าร้าน การพบปะลูกค้าและการขายสินค้า และ 4.) การตลาด ได้แก่ การตลาดและการสร้างแบรนด์ ทั้งนี้ พบว่า SME ถึง 87% ไม่มีเวลาให้กับการตลาด ทำให้พลาดในการสร้างจุดเด่นหรือสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง

6. ONE MAN SHOW…NO Stand-in น่าตกใจว่า 70% ของ SME ไทย ไม่สามารถหาบุคคลที่จะมาเป็น ‘ตัวตายตัวแทน’ ที่จะตัดสินใจทางธุรกิจแทนได้เลย ขณะที่ 49% ยอมรับว่าพบปัญหาธุรกิจสะดุด หากตนเองไม่อยู่ดูแลหรือขายสินค้าเองในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้ยอดขายลดลง ออเดอร์หรือฐานลูกค้าหายไปทันที

7. ไม่พร้อมรับมือกับสิ่งใหม่ จากข้อมูลพบว่ามี SME ถึง 62% ที่ขยันสรรหาสิ่งใหม่ๆ มาเพื่อพัฒนาธุรกิจเสมอ ขณะที่อีก 38% ยังไม่พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ เหตุผลส่วนใหญ่คือ 19% เกรงว่าจะมีปัญหาในช่วงเริ่มต้นสิ่งใหม่ 14% ไม่เปิดรับหรือไม่มีเวลาหาข้อมูลสิ่งใหม่ๆ และ 5% มองว่าธุรกิจที่ทำอยู่นั้นดีอยู่แล้ว จึงไม่สนใจที่จะเปลี่ยนแปลงใดๆ


“จากข้อมูลที่สรุป ‘7 หลุมพรางของ SME ที่ทำให้ธุรกิจไม่ไปถึงฝั่งฝัน’ นั้น ทางทีเอ็มบีจึงมีข้อแนะนำสำหรับ SME คือ 1) เลือกเงินทุนและจัดสัดส่วนเงินลงทุนอย่างเหมาะสม คำนึงถึงความเสี่ยงด้วย 2) วางแผนธุรกิจคร่าวๆ ด้วยตนเอง 3) แยกกระเป๋าธุรกิจออกให้เป็นสัดส่วน หรือทำบัญชีรายรับรายจ่ายให้เห็นเงินเข้าออกอย่างชัดเจน 4) คิดต้นทุนให้ครบ 5) หาเครื่องทุ่นแรงหรือคนมาช่วยดูแลธุรกิจ 6) เริ่มคัดเลือก หรือพัฒนาบุคลากร เพื่อวางรากฐานให้มั่นคง 7) การความรู้เพิ่มเติมเพื่อต่อยอดธุรกิจ ด้วยการเดินงานแฟร์ คุยกับที่ปรึกษา SME ร่วมงานสัมมนา หรือ SME Community ต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนผู้ประกอบการด้วยกัน เหล่านี้ถือเป็นแนวทางที่ทำให้ SME ไทยสร้างความแตกต่าง – Make THE Difference ให้กับตัวคุณ ให้ธุรกิจของคุณเติบโตได้อย่างยั่งยืน และก้าวไปถึงฝั่งฝันได้นั่นเอง” นางสาวชมภูนุช กล่าวสรุป