‘ขุนคลัง-ศุภวุฒิ-ปริญญ์’ มองข้ามชอตปัจจัยขึ้นดอกเบี้ยปี’62

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของแบงก์ชาติในวันที่ 14 พ.ย. 2561 นี้ เป็นนัดที่ถูกตลาดการเงินและภาคธุรกิจ จับตาเป็นพิเศษว่า จะส่งสัญญาณอะไรบ้าง เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะสั้น 1 วัน ที่ปัจจุบันอยู่ระดับ 1.50% ในระยะข้างหน้า

ท่ามกลางดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุด ดอกเบี้ยเฟดอยู่ที่ช่วง 2.00-2.25%ในการประชุมรอบ 25-26 ก.ย. 61 ที่ผ่านมา และส่งสัญญาณจะปรับขึ้นดอกเบี้ยทิ้งทวนปลายปีนี้ (การประชุมรอบ ธ.ค.) 1 ครั้ง ปีหน้าขึ้นอีก 3 ครั้ง และปี 2563 ขึ้นอีก 1 ครั้ง

วันนี้ ส่วนต่างดอกเบี้ยเฟดกับไทย ห่างกันอยู่ที่ราว 0.50-0.75% และจะเพิ่มขึ้นเป็น 0.75-1% หากสิ้นปีนี้ กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% และจะห่างขึ้นเรื่อย ๆ ในปีหน้า

ในมุมมองของ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัย กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) วิเคราะห์ข้ามชอตไปถึงปี 2562 ว่า ขณะนี้สถาบันวิจัยของภัทร อยู่ระหว่างการประเมินท่าทีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ใหม่ จากเดิมประเมินว่าปีหน้าจะเห็น กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง โดยเรามองว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะขยายตัวชะลอลง 3.8% ซึ่งยอมรับว่าสถานการณ์ต่าง ๆ ในเวลานี้ทั้งในและนอกประเทศ ทำให้ประเมินได้ค่อนข้างยากจริง ๆ แต่คิดว่าน่าจะประเมินออกมาเป็นทางการในสัปดาห์หน้า (หลัง กนง.ประชุมรอบ14 พ.ย.นี้) โดยคาดว่า 2 ครั้งสุดท้ายของการประชุม กนง.รอบปลายปีนี้จะคงดอกเบี้ยไว้

สำหรับประเด็น กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ มี 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ดอกเบี้ยเฟด ยิ่งขึ้นดอกเบี้ยก็ยิ่งทิ้งห่างดอกเบี้ยไทย(กรณีไทยคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5%) กว้างขึ้นก็จะยิ่งทำให้กรรมการ 7 คนของ กนง.มีความ
หวั่นไหวสูงขึ้นต่อการพิจารณาการส่งสัญญาณที่จะออกมาในรอบนี้ เพราะเมื่อกลางปี กนง.ก็ส่งสัญญาณอยากขึ้นดอกเบี้ย และคิดว่าครั้งนี้ก็น่าจะเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา กนง.ไม่เคยพูดถึงเรื่องส่วนต่างดอกเบี้ยตรงนี้เลย

“2.ถ้าดูเงื่อนไขในอดีต บนภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวอยู่ใน cycle เดียวกัน ส่วนต่างดอกเบี้ยสหรัฐกับไทย สูงสุดก็ 0.75% แต่หลังจากสิ้นปีนี้ไปจะเกินระดับนี้แล้ว และ 3.เรื่องของเงินเฟ้อทั่วไป ที่เข้ากรอบเป้าหมาย ซึ่งปีนี้กรอบเป้าหมายอยู่ที่ 2.5+/-1.5% ธปท.ก็บอกว่าเงินเฟ้อเข้ากรอบแล้ว ส่งสัญญาณจะขึ้นดอกเบี้ยซึ่งปีหน้าเข้ากรอบเป้าหมายเฟ้ออีก ธปท.จะหยิบประเด็นนี้มาพูดอีกหรือไม่ นี่คือ 3 ประเด็นที่เขาพูดถึง” ดร.ศุภวุฒิกล่าว

แต่ตอนนี้ก็มีปัจจัยเสริมอีกที่เป็นตัวเร่งต่อการขึ้นหรือไม่ขึ้นดอกเบี้ย นั่นคือ ดุลบัญชีเดินสะพัด หากเกินดุลตัวนี้สูงมากธปท.ก็จะไม่ห่วงในเชิงที่ว่า แม้ดอกเบี้ยนโยบายเราต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ที่เผชิญเงินไหลออก แต่ไทยยังมีเงินไหลเข้า (ของดุลชำระเงิน) รุนแรง ๆ ในระยะสั้น ๆได้ จะมาทดแทนในส่วนของดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะเกินดุลน้อยลงกว่าปีนี้

ส่วนค่าเงินบาทที่ยังผันผวน หากขึ้นดอกเบี้ยจะกระทบด้านค่าเงินนั้น ก็เป็นเหตุผลที่เป็นไปได้ ซึ่ง กนง.ก็เห็นด้วยที่อยากให้ค่าเงินบาทอ่อนเยอะ ๆ และหากเงินบาทอ่อนมา 35 บาท/ดอลลาร์ ก็คงจะค่อยอยากขึ้นดอกเบี้ย (ณ 13 พ.ย.ค่าเงินบาทอยู่ที่ 32.96-33.26 บาท/ดอลลาร์)

ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า ในการประชุมรอบ 14 พ.ย.นี้ การจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหรือคงไว้ ขึ้นอยู่กับ กนง. และคงจะเห็นเสียงแตกอยู่แล้ว

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บล.ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) จำกัด มีความเห็นว่า คงยังไม่เห็น ธปท.รีบร้อนขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยค่อย ๆ ดีขึ้น ทาง ธปท.ได้ส่งสัญญาณเตรียมขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปบ้างแล้ว แต่สถานการณ์เศรษฐกิจก็ยังมีปัญหาเยอะเช่น การส่งออกของไทย เดือน ก.ย. 61ที่ไม่ได้เติบโตมาก รวมถึงปัญหาจากสงครามทางการค้าที่ต้องระมัดระวัง ดังนั้น ธปท.ยังต้องทำให้เกิดการบาลานซ์ (สมดุล) ก่อน ซึ่งเชื่อว่าแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.จะราวปีหน้า

“กนง.มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในช่วงไตรมาส 1 หรือไม่เกินไตรมาส 2 ของปี 2562 ซึ่งต้องดูว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะดีแค่ไหน การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไร เพราะเป็นช่วงเวลาที่ใกล้กันอยู่แล้ว ถ้าเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ก็เริ่มขยับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้” นายปริญญ์กล่าว