ค่าเงินบาทผันผวน ขณะที่ กนง.คงดอกเบี้ย คะแนนเสียงแตก 4 ต่อ 3

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 14 พฤศจิกายน 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้  (14/11) ที่ระดับ 32.90/92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (13/11) ที่ระดับ 33.02/04 บาท/ดอลลาร์ ค่าเงินดอลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงหลังจากขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 16 เดือน โดยช่วงเช้าการซื้อขายในตลาดค่อนข้างเบาบาง เนื่องจากนักลงทุนจับตาดูผลการประชุมผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย ทั้งนี้ กนง.มีมติด้วยเสียง 4 ต่อ 3 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ตามที่นักวิเคราะห์คาดไว้โดยมองภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ขณะทีี่มองว่า
นโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป แต่การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะทยอยลดความจำเป็นลงโดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.84-33.03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.99/33.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/11) ที่ระดับ 1.1304/06 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (13/11) ที่ระดับ  1.1224/26 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรและปอนด์แข็งค่าขึ้นหลังจากที่มีการประกาศว่าสหราชอาณาจักรและยุโรปบรรลุร่างข้อตกลง Brexit ได้สำเร็จ โดยอังกฤษได้ทำร่างข้อตกลงเรื่องการถอนตัวกับสหภาพยุโรป (EU) แล้ว และนายกรัฐมนตรีอังกฤษ นางเทเรซา เมย์ จะต้องพยายามผลักดันข้อตกลง Brexit ให้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีสภาอังกฤษ เพื่อนำไปยื่นและรออนุมัติในการประชุมผู้นำ EU ขณะเดียวกันอิตาลียืนยันร่างงบประมาณปี 2019 ขาดดุลที่ 2.4% ต่อจีดีพี 2019 ถึงแม้ว่าคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) อาจจะดำเนินมาตรการลงโทษอิตาลีในฐานะทางเลือกสุดท้าย ถ้าหากอิตาลีกับ EU ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ในเรื่องงบประมาณของอิตาลีได้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1267-1.1319 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1270/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/11) ที่ระดับ 113.97/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (13/11) ที่ 114.11/13 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยวานนี้ (13/11) รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 หดตัวลง 1.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะหดตัวลงเพียง 1.1% โดยได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ รายงานระบุว่า การบริโภคภาคเอกชน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ปรับตัวลง 0.1% เนื่องจากการใช้จ่ายในภาคโรงแรม การรับประทานอาหารนอกบ้านและการคมนาคมทางอากาศลดลง

นอกจากนี้ราคาพืชขผักที่ปรับตัวสูงขึ้นยังทำให้ประชาชนต้องรัดเข็มขัดกันมากขึ้นอีกด้วย ส่วนยอดส่งออกปรับตัวลง 1.8% ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส เนื่องจากอุปสงค์รถยนต์และผลิตภัณฑ์กลุ่มเทคโนโลยีจากต่างชาติลดลง ส่วนยอดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวขาเข้าก็ลดลงตามไปด้วย เนื่องจากญี่ปุ่นเผชิญกับภัยธรรมชาติหลายครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนการใช้จ่ายด้านทุนซึ่งเคยได้รับแรงหนุนจากผลกำไรของบริษัทและภาคการก่อสร้างที่คึกคักก่อนช่วงเปิดการแข่งขันโตเกียว โอลิมปิก 2020 นั้น ปรับตัวลง 0.2% ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 2 ปี ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.76-113.98 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดเตลาดที่ระดับ 113.88/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมยุโรป (14/11) ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐ (14/11) ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย (14/11) แถลงการณ์ของนายเจอโรม พาเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (15/11) ยอดการค้าปลีกของสหรัฐ (15/11) ผลสำรวจดัชนีอุตสาหกรรมในนิวยอร์ก (15/11) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (15/11) แถลงการณ์ประธานเฟด สาขาแอตแลนตา (16/11) การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ต.ค. ของสหรัฐ (16/11) แถลงการณ์ประธานธนาคารกลางยุโรป (16/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง(Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.0/-1.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.5/+0.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ